มายากลช่วยพัฒนาทักษะ

ดอกจิก จำมาโม้


ที่มาข้อมูล
: ผู้จัดการออนไลน์


เดลิเมล์ - นักวิจัยแนะการสอนเคล็ดลับการเล่นกลเล็กๆ น้อยๆ ในโรงเรียน ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ
และการรักษาระเบียบวินัยของเด็ก หลังพบ 'โรงเรียนมายากล' สัปดาห์ละชั่วโมง เป็นประโยชน์
กับเด็กอายุ 10-12 ขวบ มากกว่าวิชา 'เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต'


ศาสตราจารย์ริชาร์ด ไวส์แมน นักจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้
เรียกร้องให้บรรจุวิชามายากลในหลักสูตรการศึกษาของอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่า การเรียนรู้มายากล

ต้องการการรักษาระเบียบวินัย การทำความเข้าใจความคิดของคนอื่น และความสามารถในการ
สร้างความบันเทิง


นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับเกมคอมพิวเตอร์


"เหตุผลเหล่านี้ทำให้เราคิดว่า มายากลน่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาชุดทักษะที่สำคัญ"


นักเรียนส่วนใหญ่จะต้องเรียนวิชาสุขอนามัยส่วนบุคคลและสังคม (พีเอชเอสอี) เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยวิชานี้พัฒนาขึ้นมา
เพื่อสนับสนุนให้เด็กมีความนับถือและเชื่อมั่นในตัวเอง ปรับปรุงความสัมพันธ์ และเคารพผู้อื่น


ศาสตราจารย์ไวส์แมน สมาชิกแมจิก เซอร์เคิล และอดีตนักมายากลอาชีพ ได้ทดสอบผลลัพธ์จากการสอนมายากล
กับนักเรียนอายุ 10-12 ปี จำนวน 60 คนจากโรงเรียนสองแห่งใน เฮิร์ตฟอร์ดเชียร์

 


(ภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา)


นักเรียน 30 คนแรกได้เรียน "โรงเรียนมายากล" 1 ชั่วโมง โดยเรียนรู้มุกง่าย ๆ สองมุกคือ การทำให้เชือกที่ถูกตัดกลาง
กลับมาต่อเป็นเส้นเดียวกัน และการอ่านใจผู้อื่นโดยการทายไพ่ที่คน ๆ นั้นเลือกได้อย่างถูกต้อง นักเรียนกลุ่มนี้จะถูกขอให้ฝึกฝน
กลดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงได้รู้เคล็ดลับในการแสดงกลทั้ง 2 แบบ


การสอดแทรกวิชามายากลให้นักเรียนเป็นครั้งคราว ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองและการรักษาระเบียบวินัย
ตลอดจนทักษะในการเข้าสังคมให้แก่เด็ก


นักเรียนอีก 30 คนที่เหลือได้เรียนวิชาพีเอชเอสอีตามปกติ โดยครูพยายามเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความเคารพในตัวเอง
ด้วยนิทาน การจัดให้นักเรียนเล่นละคร และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


นักวิจัยยังประเมินผลด้วยการขอให้นักเรียนทั้งหมดทำแบบสอบถามก่อนเข้าเรียน หลังเรียนเสร็จทันที และ 2 สัปดาห์หลังการเรียน


แม้ทั้ง 2 วิชาช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นและความสามารถในการเข้าสังคม แต่นักวิจัยพบว่าวิชามายากลได้ผลมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กขี้อายที่มีความนับถือตัวเองต่ำ


ผลลัพธ์ดังกล่าวจะคงอยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการเรียน และอาจได้ผลนานกว่านั้นหากมีการทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากหากต้องการให้การแสดงกลประสบความสำเร็จ นักเรียนต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้ตนเอง
และส่งเสริมสมาธิ นอกจากนั้น เด็กยังต้องเรียนรู้วิธีการแสดงมายากลหน้าชั้นเรียน ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น



(ภาพประกอบบทความ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา)


นักเรียนยังจะต้องคิดอย่างรอบคอบว่าคนดูจะมองการแสดงของตนอย่างไร และพยายามไม่ให้คนอื่นล่วงรู้เคล็ดลับ
ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมทักษะในการทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นและทักษะในการเข้าสังคมไปในตัว


อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไวส์แมน ย้ำว่า ไม่ควรนำวิชามายากลไปแทนที่วิชาพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์
และวิทยาศาสตร์ แต่ควรนำไปสอดแทรกในวิชาพีเอชเอสอีเป็นครั้งคราวโดยใช้ดีวีดีระบบอินเทอร์แอกทีฟช่วยเป็นสื่อการสอน


ศาสตราจารย์ไวส์แมน ทิ้งท้ายว่า พ่อแม่ยังสามารถช่วยพัฒนาความเชื่อมั่น
และการรักษาระเบียบวินัยของลูก
ได้ด้วยการส่งเสริมการเล่นกลในบ้าน ♣



ที่มาข้อมูล

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9510000110753


ภาพประกอบบทความ

https://richardwiseman.wordpress.com/photographs
http://lookingatmagictricks.blogspot.com/2012/03/social-benefits-of-learning-magic.html

http://academyofmagic.com.au/discover-magic
https://www.hocusfocuseducation.com/teaching-artist

Share