เส้นทางมายากลสู่ราชอาณาจักรสยาม
- รายละเอียด
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันเสาร์, 30 พฤษภาคม 2563 18:57
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 05 มกราคม 2561 17:56
- เขียนโดย ชาลี ประจงกิจกุล
บทความนี้ ผู้เขียนได้เขียนบันทึกในลักษณะ เหตุการณ์ลำดับเวลา (Timeline) ผสมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบ้าง แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละเหตุการณ์ หากมีโอกาสจะนำมาขยายความในโอกาสต่อไป
เรื่องราวของมายากลที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย สามารถนับย้อนถอยเส้นทางไปได้ไกลถึงสามร้อยกว่าปี ตามที่ได้มีการบันทึกไว้หนังสือประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) โดย นิโคลาส แชร์แวส (Nicolas Gervaise)
เป็นนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนา เข้ามาในสยามเมื่อปี พ.ศ. 2224 - 2229 ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ. 2506 บันทึกไว้ว่า มีการแสดงเนรมิตดอกไม้จากกระถาง สันนิฐานว่าเป็นการแสดงของชาวโปรตุเกส
จากนั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้พบการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับมายากลอีกเลย จนกระทั่งในรัชกาลของ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) มีเรื่องราวปรากฏในหนังสือนิทาน ศรีธนญชัย (ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้แต่ง) ว่ามีแหม่มมาเปิดการแสดงกล เสกเหล้าจากขวดเปล่า และ ศรีธนญชัยได้ท้าพนันกับแหม่มให้มาประลองวิชามายากลกัน ว่าใครสามารถปัสสาวะลงขวดโดยปากขวดไม่เลอะ
ในรัชสมัยของ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) สยามได้ทำการค้าขายกับประเทศอินเดียและประเทศจีน อินเดีย เดินทางมาทางบก ส่วนจีน มาทางเรือสำเภา นอกจากจะมีพ่อค้าเดินทางเข้ามาแล้ว ยังมีคนเล่นกลเร่ร่อน เข้ามาเปิดการแสดง ทางของจีน เราเรียกกันว่า "ปาหี่" ส่วนของอินเดีย เราคุ้นกันในชื่อ "กลอับดุล" ต่อมาคนไทยเรานำการแสดงทั้งสองประเภทนี้ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน แล้วเปิดแสดงเป็น "กลกลางแปลง"
เมื่อ 30-50 ปีก่อน นิยมแสดงกันที่ท้องสนามหลวง มักจะมีการแสดง งูเห่ากัดกับพังพอน เป็นตัวชูโรง แล้วจบลงด้วยการขายยาหรือวัตถุ (ที่อ้างว่า) เป็นมงคล ในสมัยเป็นเด็ก ผู้เขียนเป็นแฟนเหนียวแน่นต้องไปยืนดูเป็นประจำ คณะที่มีชื่อเสียง คือ คณะของ ศรี อิ่มสะอาด ซึ่งต่อมาผันตัวเป็นนักแสดงมายากลเต็มตัว ใช้ชื่อว่า "ฮูดิน่า" (เสียชีวิตแล้ว)
ศรี อิ่มสะอาด (ฮูดิน่า)
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ท่านได้ทรงเสด็จประภาสยุโรป และได้ทอดพระเนตรการแสดงมายากลของต่างประเทศ เมื่อกลับมายังเมืองสยาม จึงได้ทรงก่อตั้ง สมาคมนักกลหลวง ในปี พ.ศ. 2419 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Royal Magical Society ออกเสียงเป็นสำเนียงสมัยนั้นว่า รอแยล มายิกเกม โซไซเอตี มี พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระอนุชา เป็นประธานสมาคม อ่านเพิ่มเติมที่ https://sites.google.com/site/chobmapagon/Articles/thaimagichistory
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท ฯ
และยังมีบันทึกว่า พระองค์ได้เคยทรงทอดพระเนตรการแสดงกลที่งานพระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นการแสดงกลของคณะ กลสยามมนตรโยคบริษัท (โยค แปลว่า รวมกัน บริษัท แปลว่า กลุ่มคน โดยรวมจึงแปลว่า กลุ่มคนรวมกันแสดงกลด้วยเวทย์มนตร์) อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.jortorball.com/story/article/rama-v-19-05-2435
ในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ก็มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับมายากล แต่เป็นบันทึกของนักมายากลชาวยิว ชื่อ แม๊กซ์ มาลินี (Max Malini) ว่าเคยแสดงมายากลต่อหน้าพักตร์ของกษัตริย์หลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งของประเทศสยามด้วย ซึ่งปรากฏในโปสเตอร์ของเขา
ผู้เขียนสันนิฐานว่า ไม่ใช่การแสดงที่เมืองไทย แต่เป็นการแสดงที่ยุโรป และ ร.6 ได้ทรงทอดพระเนตร ในณะที่ยังไม่ได้ทรงขึ้นครองราชย์ แต่เป็นครั้งเมื่อพระองค์ทรงตามเสด็จ ร.5 หรือ อาจจะเป็นขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรป (วานผู้รู้ ช่วยกรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติม)
ในช่วงปลาย ร.6 มีตำราวิทยากลออกจำหน่ายในเมืองไทย ผู้เขียนรวบรวมได้ 11 เล่ม แต่เชื่อว่าคงจะมีมากกว่านี้ เป็นตำราที่แปลจากต่างประเทศ ราคาเล่มละ 20 สตางค์บ้าง 2 บาทบ้าง ด้านในยังมีโฆษณาจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำโดยคนไทย ในโฆษณาระบุว่ามีจำหน่ายที่ แถวสะพานมอญ คลองหลอด และ ที่ถนนเจริญกรุง ใกล้วัดยานนาวา



เป็นที่น่าสังเกตว่า จวบจนปัจจุบันนี้ผู้เขียน ยังไม่พบบันทึกใด ๆ ว่า มีมายากลที่เป็นของคนไทย คิดโดยคนไทย หรือพูดง่าย ๆ คือ ยังไม่เจอมายากลสัญชาติไทยเลยแม้แต่กลเดียว
จากนั้นมาก็ไม่พบบันทึกใด ๆ เกี่ยวกับมายากลในเมืองไทยอีกเลย ในช่วงราวปี พ.ศ. 2508 ผู้เขียนได้มีโอกาสดูมายากลทางโทรทัศน์ ในสมัยนั้นยังเป็นภาพขาว-ดำ เป็นคลิปการแสดงมายากลโคลส-อัพสั้น ๆ ประมาณ 2 นาที ซึ่งจะเอามาฉายก่อนภาพยนตร์เรื่อง หนูน้อยบีเวอร์ (ฉายสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง) และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มสนใจมายากล
แต่ภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่อผู้เขียนในเรื่องมายากลไพ่แนว Flourish (ลีลาไพ่) คือเรื่อง ขวัญใจสายลับ (The Avengers) ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งรายการโทรทัศน์เมืองไทยออกอากาศเป็นภาพสีแล้ว ฉากไตเติ้ลของภาพยนตร์จะมีการแสดงลีลาไพ่ สวยงามมาก ๆ จนต้องเอาไพ่ อะลาดิน ของที่บ้านมาลองเล่น โดยปูกระดาษหนังสือพิมพ์ลงกับพื้น
(ดูนาทีที่ 1.0)
ปี พ.ศ. 2514 มีการประกวดมายากล โดยใช้ชื่อว่า "ยอดมายากล" ทางช่อง 5 สนามเป้า จัดโดย พ.ต.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก (ผู้ประพันธ์เพลง หนักแผ่นดิน) มีผู้เข้าประกวดประมาณ 10 คณะ อันดับหนึ่ง เป็นของลูกสาวไฉน อันดับสอง เป็นคณะดาวน้อย อันดับสาม ไม่มีผู้ได้รับรางวัล และอีกคณะที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวด คือ คณะ กลวิเศษ ของ คุณวุฒิชัย สุวรรณแก้วมณี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ชมรมวิทยากล สยามเมจิก


คุณวุฒิชัย ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น โบโซ่ ของเมืองไทย ในรายการโบโซ่โชว์ ทางช่องเจ็ดสี เมื่อครั้งยังอยู่หลังสถานีหมอชิต
สำหรับ ชื่อ "โบโซ่" ในสมัยนั้น จะเป็นคนละความหมายกับ "โบโซ่" ในสมัยนี้ ที่หมายถึงคนที่แต่งหน้าเป็นตัวตลก บิดลูกโป่งให้เด็ก ๆ แต่ "โบโซ่" ในสมัยนั้น เป็นตัวตลกที่เป็นลิขสิทธ์ของต่างประเทศ มีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเอง และจะต้องเข้าคอร์สเรียน บุคคลิก ท่าทาง ฯ จนสอบผ่านจึงจะได้ใบประกาศนียบัตรให้เป็น "โบโซ่" ได้ ในเมืองไทยสมัยนั้น รายการโบโซ่จะมีตัวเด่น ๆ คือ โบโซ่ ลุงเชย บ้องตัน และหนูพุก (ผู้เขียนได้เคยเป็นหนูพุกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2515)
ปี พ.ศ. 2516 ผู้เขียนมีโอกาสตื่นตา ตื่นใจ กับอุปกรณ์มายากลจากต่างประเทศ ที่นำเข้ามาจำหน่ายโดย ห้างเซ็นทรัล ผู้เขียนได้เคยไปซื้อที่สาขาวังบูรพา และสาขาสีลม (เดิมอยู่ใกล้ถนนมเหสักข์ ไม่ใช่สีลมปัจจุบัน) อุปกรณ์ที่ขาย เป็นของ Tenyo ทั้งหมด จำได้ว่าเคยซื้อชุดลูกเต๋า ราคา 22 บาท มีผู้หญิงเป็นคนขาย ชื่อ เหล่ง และ ผจก.สาขา ชื่อ คุณสมส่วน (ไม่ทราบนามสกุล)


ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2519 ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ได้กำเนิดขึ้น โดย คุณไพรัช ธรสารสมบัติ (ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน) และผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกคนแรก เดิมทีชมรมฯ ได้ตั้งอยู่ที่ถนนจารุเมือง (ใกล้หัวลำโพง) และย้ายไปอีกหลายที่ จนปัจจุบันอยู่ที่ บ้านสยามมายา ถนนพระรามสอง ซอย 72 (มีงานพบปะกันทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน)

คุณไพรัช ธรสารสมบัติ
บ้านสยามมายา
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2519 นับได้ว่าเป็นช่วงสำคัญที่พลิกโฉมวงการมายากลของไทย นั่นคือ ทาง บริษัท 72 โปรโมชั่น ของ คุณเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ ได้นำเทปบันทึกการแสดงของนักมายากลที่มีชื่อเสียงของโลกมาออกอากาศทางโทรทัศน์ สัปดาห์ละครึ่งชั่วโมง ทำให้คนไทยได้รู้จักนักมายากลต่างประเทศหลายท่าน อาทิเช่น ชิมาดะ, ซิกฟรีซ แอนด์ รอยด์, เดริก เฮนนิ่ง, เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์, ซิลลิแวน, ลี เอ็ดเวิร์ด, เกียร์ คูเปอร์ ฯลฯ นับได้ว่าเป็นรายการโทรทัศน์ที่เป็นแรงบันดาลใจของนักมายากลรุ่นแรก ๆ ของเมืองไทย ต่อจาก ไฉน แสงทองสุข
จากรายการดังกล่าว ทำให้เกิดนิตยสาร หนังสือ "มายากล" ออกเป็นรายเดือน โดย บริษัท แพนแม๊กซ์ มีเดีย มี คุณสมชัย เมธเมาลี เป็นบรรณาธิการ และ คุณชูศักดิ์ วิจักขณา เป็นผู้แปลบทความจากต่างประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันนี้ คือ ดิโอลด์สยาม


ที่ บริษัท แพนแม๊กซ์ มีเดีย นี้เอง ที่เป็นแหล่งผลิตนักมายากลฝีมือดี ที่ชื่อว่า สุรพล แซ่อึ้ง หรือ เหน่ง หรือ ปีเตอร์ยี (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น เอมอมรกุล) เดิมที สุรพล หรือ เหน่ง (ชื่อปัจจุบัน คือ นิรมิต) ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในร้านทอง ยู่ล้งกิมกี่ ใกล้กับตลาดเก่า เยื้องกับวัดมังกร กมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) บ้านผู้เขียนเองก็อยู่เยื้องกับร้านทองนี้ ทำให้ได้มีโอกาสพบกับ เหน่ง สุรพล บ่อยครั้ง
สุรพล นี้เองที่เป็นผู้ชักชวนให้พี่ชาย คือ เปี๋ยว หรือ คุณประยุทธ เอมอมรกุล ให้เปิดร้านจำหน่ายมายากล "อัมพรภัณฑ์" แถวเฉลิมบุรี ซึ่งปัจจุบันคือ First Magic ในช่วงนั้นอุปกรณ์มายากลมีจำหน่ายที่ห้างต่าง ๆ เช่น ไทยไดมารู ราชดำริ, เมอร์รีคิงส์, เดอะมอลล์ แม้แต่ ถั่วแระ เชิญยิ้ม (ศรสุทธา กลั่นมาลี) นายกสมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2549 - 2551) ก็ยังเคยยืนขายกลอยู่หลังตู้ ที่ห้าง ไทยไดมารู ราชดำริ
หลังจากที่ ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ได้ก่อตั้งขึ้น ประธานชมรมได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมงานมายากลบ่อยครั้ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ เมื่อมีนักมายากลต่างประเทศเดินทางมาเมืองไทย จะต้องแวะไปเยียมเยียนชมรม สยามเมจิก ทำให้ชมรมฯ ได้รับการเลือกให้เป็นสาขาในเมืองไทย จากสมาคมวิทยากลระดับโลก คือ The Society of American Magicians (S.A.M.) และ The International Brotherhood of Magic ( I.B.M.)


ปี พ.ศ. 2525 ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ได้จัดประกวดมายากลขึ้น ที่ ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ พระรามสี่ ตรงข้ามสนามมวยลุมพินี และที่นี่เอง ที่ ฟิลิป เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ ได้แจ้งเกิด โดยการเป็นแชมป์อันดับหนึ่ง
เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ (ฟิลิป)
ปี พ.ศ. 2528 ชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันเป็น สมาคมวิทยากล (ประเทศไทย) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2528 โดย นายแมน รัตนพิทักษ์ - นายธนา งามวัฒน์ - นายนเรนทร์ ศราภัยวานิช



หลังจากที่ ฟิลิป ได้แชมป์ ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ได้พา ฟิลิป ไปประกวดมายากลในงาน Tokyo Magic Symposium ที่ประเทศญี่ปุ่น จัดโดย Ton Onosaka และ ฟิลิป ก็ไม่สร้างความผิดหวัง สามารถคว้าอันดับหกของโลกมาครอบครอง
Ton Onosaka
จากงานนี้เองที่ทำให้มายากลของไทย เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และ ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ยังได้มีโอกาสส่งนักมายากลไทย เข้าร่วมประกวดในงานมายากลระดับโลก ซึ่งมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับโอลิมปิคในด้านกีฬา คือ สมาพันธ์มายากลนานาชาติ Fédération Internationale des Sociétés Magiques (F.I.S.M.)
ในปี พ.ศ. 2531 ส่ง ฟิลิป เข้าประกวดในประเภทเวที Manipulation ที่ ประเทศฮอลแลนด์
หนังสือ FISM เมื่อปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)
ปี 2534 ส่ง เจริญ อุดมวันสุขทวี เข้าประกวดในประเภท เวทีทั่วไป ในชื่อ "Siam Magic" และ พิชิต ตังคไชยนันท์ ในประเภท โคลส อัพ ที่ สวิสเซอร์แลนด์ ในชื่อ "Multiplex"


พิชิต - ฟิลิป - เจริญ
ปี พ.ศ. 2546 ประธานชมรมวิทยากล สยาม เมจิก คุณไพรัช ธรสารสมบัติ ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง สมาพันธ์มายากลแห่งเอเซีย Asian Magic Assocition (A.M.A.) ปัจจุบันมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ กว่า 15 ประเทศ รวมทั้ง สมาคมวิทยากล (ประเทศไทย) ด้วย
ต่อมา คุณไพรัช ธรสารสมบัติ ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้ง จาก สมาพันธ์มายากลนานาชาติ Fédération Internationale des Sociétés Magiques (F.I.S.M.) ให้เป็นหนึ่งใน คณะกรรมการบริหาร ประจำภาคพื้นเอเซีย (F.I.S.M. Asia)
ปี พ.ศ. 2560 ชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย ได้เติบโตขึ้นจนเป็นสมาคม ในชื่อ สมาคมวิทยากล (ประเทศไทย) โดยมี ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เป็นนายกสมาคมคนแรก
บทความข้างต้นนี้ เป็นเนื้อหาในการเสวนา งานเปิดตัวสมาคมวิทยากล (ประเทศไทย) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ ศูนย์การค้า เดอะ พรอมานาด (The Promenade)