Haruo Shimada

Shimada

นักคิด-นักสร้าง-ปรมาจารย์


Haruo Shimada เกิดเมื่อ 19 ธันวาคม 1940 เป็นบุตรของ Toyosaku และ Tamiko บิดาเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ตั้งแต่ปี 1942 ปล่อยหน้าที่การเลี้ยงดูลูกเป็นของภรรยา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่เขาต้องเอาผ้าหุ้มร่างเขา ผูกไว้กับหลังวิ่งไปตามท้องถนนของเมืองโตเกียว เพื่อหนีภัยร้ายที่โหดร้าย หลังจากนั้นอีกเพียงห้าเดือน สหรัฐอเมริกาก็ยุติสงครามด้วยระเบิดปรมาณู ที่เมือง ฮิโรชิมา และ นางาซากิ

หลังสงครามประเทศญี่ปุ่นย่อยยับอย่างมากมาย ประชาชนอดอยากแสนเข็ญ ทางครอบครัวพวกเขาก็ประสบกับปัญหาทางการเงินเช่นกัน ทำให้ Shimada ต้องเปลี่ยนโรงเรียนถึง 8 แห่ง ในช่วงมัธยมเขาต้องเรียนภาคค่ำ เพราะช่วงกลางวันมีคนแย่งกันเรียนเป็นจำนวนมาก แต่อีกมุมหนึ่งการเรียนภาคค่ำนี้ก็เป็นโอกาสดี ที่ทำให้เขามีเวลาว่างในช่วงกลางวัน

ช่วงอายุ 16 เขาชอบฟังเพลงสากลตามประสาวัยรุ่น รายการวิทยุ The American Hit Parade (ปี 1956) เป็นรายการที่ออกอากาศสัปดาห์ละครั้ง กว่าจะได้ฟังเพลงที่ชอบ ต้องใจจดใจจ่อรอถึงเจ็ดวัน ในยุคนั้นเครื่องบันทึกเสียงยังไม่แพร่หลาย และราคาก็สูงเกินกว่าจะจับต้องได้ เทปคาสเซทท์ก็ยังไม่มี ที่พึ่งเพียงอย่างเดียวก็คือ แผ่นเสียง

เขารู้ว่าในโตเกียวมีร้านขายแผ่นเสียงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เขาจึงแวะไปในวันหนึ่ง ไม่ได้ตั้งใจจะไปซื้อแผ่นเสียงเพราะสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย เขาเพียงแต่จะแวะไปขอให้เจ้าของร้านช่วยเปิดเพลงโปรดของเขาให้ฟัง

ในขณะที่เขากำลังฟังเพลง (ฟรี) ไม่รู้ว่าด้วยฟ้าลิขิต หรือ พรหมบันดาล หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ กระชากสายตาเขาให้หันไปยังกลุ่มคนที่กำลังมุงอยู่ตรงมุมขายของเด็กเล่นถัดจากร้านแผ่นเสียงที่เขายืนอยู่

วินาทีนั้นเอง ที่ประวัติศาสตร์ของโลกมายากลอีกหนึ่งบทก็กำเนิดขึ้นในทันทีที่เขาก้าวเท้าออกจากร้านแผ่นเสียง เดินไปตรงนั้น ตรงที่มีชายคนหนึ่งเอาผ้าสีแดงยัดใส่ลงไปในอุ้งมือ แล้วเสกให้มันอันตรธานหายไป แล้วก็เสกให้มันกลับมาจากอุ้งมือเปล่า ๆ



เขาเล่าว่า "ผมไม่เคยเห็นอะไรที่มหัศจรรย์เช่นนี้มาก่อนเลย มันเป็นไปได้อย่างไร" เขายืนนิ่งเหมือนถูกมนต์สะกด และยืนรออยู่ตรงนั้นอีกนานเพื่อที่รอให้ชายคนนั้นแสดงอีกครั้งหนึ่ง และผลก็ยังเป็นเช่นเดิม คือ ไม่รู้ว่าผ้าสีแดงมันหายไปได้อย่างไร วันนั้นเขากลับบ้านพร้อมกับเครื่องหมายคำถามเต็มหัว

ตลอดระยะเวลาเกือบสองสัปดาห์ที่เขาต้องแบกเครื่องหมายคำถามเดินไปเดินมารอบบ้าน ในที่สุดความอยากรู้ก็เป็นฝ่ายชนะ เขาอดรนทนไม่ไหว ต้องอ้อนวอนขอเงินแม่ 100 เยน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เพื่อไปซื้อมายากลชุดนั้น

เขาต้องประหลาดใจเป็นเท่าทวีคูณ เมื่อเปิดกล่องออกดู ข้างในเมีเพียง ผ้าบาง ๆ สีแดงผืนเล็ก นิ้วโป้งหนึ่งอัน (นิ้วโป้ง รุ่นแรกๆ ของ Tenyo ทำจากเหล็ก ทาสีเนื้อ )และ กระดาษคำอธิบาย (ในต่างประเทศ การซื้ออุปกรณ์มายากลเขาจะไม่สอน แต่ให้อ่านคำอธิบายเอาเอง ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนี้ )

"ผมนั่งอ่านคำอธิบาย อ่านไปคิดไป มันจะเป็นไปได้ยังไง นี่เราโดนหลอกหรือเปล่า ในนั้นบอกว่า ต้องฝึก ห้ามเปิดเผยความลับ (ผู้เขียนจำได้ว่าคำอธิบายกลของ Tenyo จะต้องมีจรรยาบรรณนักมายากล กำกับแนบท้ายอยู่ทุกชุด) ผมก็เลยใช้เวลาฝึกอยู่หลายวัน แต่ไม่กล้าแสดงให้ใครดู เพราะไม่รู้ว่าจะซ่อนเจ้านิ้วโป้งที่ให้มาได้ยังไง จนวันหนึ่งได้ค้นพบวิธีที่จะซ่อนมันไม่ให้คนดูเห็น คนดูคนแรกในชีวิตผมก็คือ แม่ของผมเอง เจ้าของเงิน 100 เยน ผมเอาผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่คลุมลงบนอุ้งมือ กดให้เป็นหลุม แล้วค่อยๆ ดึงผ้าสีแดงขึ้นมา แม่ผมมีสีหน้าแปลกใจมาก นั่นแหละ สีหน้านั้นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้มีผมในวันนี้" Shimada เล่าความหลังให้ฟัง ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

นักมายากลที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์, แลนส์ เบอร์ตัน, ไมเคิล แอมมาร์ และ นักมายากลชาวไทย ก็ล้วนแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเป็นเด็กเกาะหน้าตู้มาก่อน ผู้ปกครองเอง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กสามารถสานฝันของเขาได้ หากวันนั้นแม่ของ Shimada ไม่ยอมให้เงิน 100 เยนแก่เขา โลกวันนี้ก็คงไม่มี Shimada ในฐานะนักมายากลผู้ยิ่งใหญ่


หลังจากวันนั้น เขาไปที่ห้างสรรพสินค้านั้นบ่อยครั้งขึ้น แต่ไม่ได้ไปที่ร้านขายแผ่นเสียงเพื่อขอฟังเพลงที่ชอบ หากแต่ไปที่ตู้จำหน่ายอุปกรณ์มายากล และนับตั้งแต่วันนั้นตู้มายากลคือที่สิงสถิตย์ของเขา เขาสามารถใช้เวลาทั้งวันยืนอยู่หน้าตู้เพื่อดูคนขายแสดงมายากลชุดแล้วชุดเล่าโดยไม่เบื่อ และอีกหนึ่งชุดที่สะดุดตา สะดุดใจเขา คือ ลูกบอลไม้สีแดงที่คีบไว้ระหว่างนิ้วมือ ผู้แสดงเพียงขยับมือเบาๆ ลูกบอลแดงจากหนึ่งลูก สามารถเพิ่มเป็นสองลูก สามลูก สี่ลูก ตาของเขาเบิกโพรง มันเป็นไปได้อย่างไร โลกนี้มีความมหัศจรรย์เช่นนี้ด้วยหรือ คิ้วทั้งสองข้างขมวดเข้าหากัน อีกครั้ง ที่เขากลับบ้านในสภาพที่มีเครื่องหมายคำถามเต็มหัว แต่ครั้งนี้มีจำนวนมากกว่าเดิม และหมุนไปมา

อีกครั้งที่ความอยากรู้เป็นฝ่ายชนะ เงินจำนวน 900 เยน เป็นจำนวนที่หนักหนาสาหัส สำหรับเด็กอายุ 16 เขาอ้อนวอนแม่อยู่หลายครั้ง จนแม่ใจอ่อน (เช่นเคย) และนั่นคือชุดสุดท้ายที่เขาซื้อจาก Tenyo (เพราะสาเหตุใด จะเล่าให้ฟังต่อไป) ทุกวันที่กลับจากโรงเรียน เขาจะใช้เวลาครั้งละ 3-4 ชั่วโมงปลุกปล้ำอยู่กับเจ้าลูกบอลไม้สีแดง ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะสามารถเนรมิตลูกบอลหนึ่งลูก เป็นสี่ลูก บนปลายนิ้วโดยไม่หล่น

เขากลับไปที่ห้างแห่งนั้น เพื่อแสดงการเนรมิตลูกบอลให้กับ Tenko Hikido ชายผู้อยู่หลังตู้จำหน่ายอุปกรณ์มายากลผู้จุดประกายฝันให้เขา ชายผู้นั้นตบไหล่เขาแล้วพูดว่า "ท่าทางเอ็งจะมีแววทางมายากลนะ เอางี้ไม๊ ในช่วงปลายปีจะมีคนมาจับจ่ายซื้อของกันเยอะ ถ้าเอ็งต้องการหาลำไพ่พิเศษในช่วงกลางวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน ข้าจะขอ Tenyo San (คำเรียก เจ้าของบริษัท Tenyo ซึ่งเป็นทั้งนักมายากลและผู้ผลิตอุปกรณ์ ) ให้จ้างเอ็งเป็นกรณีพิเศษ"

โอกาสแบบนี้ มีหรือที่เด็กอย่างเขาจะปฏิเสธ ภาพฝันในวันนั้น คงเป็นภาพที่จะได้หยิบจับอุปกรณ์ในตู้มาฝึก หรือได้รับการสอนกลจากชายที่เอ่ยปากชวน

แต่สิ่งที่เขาได้ไม่ใช่เป็นไปตามภาพฝัน หากแต่เป็นงานที่เขาต้องเอาอุปกรณ์และพับแผ่นคำอธิบายใส่กล่อง แล้วแบกไปขึ้นรถประจำทางจัดส่งตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีตู้จำหน่ายมายากลของ Tenyo เขาเล่าถึงเรื่องวันนั้นด้วยเสียงหัวเราะ


Tenyo

อีกหนึ่งงานที่เขาภูมิใจ เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปทำงานใน บริษัท Tenyo คือ การนั่งล้อมวงร่วมกับ Tenyo และลูกชายของเขา ใช้พู่กันจุ่มสีเนื้อ ค่อยบรรจงทาลงบนนิ้วโป้งโลหะที่เสียบไว้บนตะเกียบทีละอันๆ แล้วตากให้แห่ง นั่นแหละ อุปกรณ์ที่เคยเป็นมายากลชิ้นแรกในชีวิตของเขา

เป็นพนักงานขายของ Tenyo ในห้างสรรพสินค้า เมื่ออายุ 18 ปี

วันหนึ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ขณะที่กำลังช่วยงานอยู่หลังตู้จำหน่ายอุปกรณ์ในห้างสรรพสินค้า เขาได้หยิบชุดบอลทวีคูณออกมาซ้อม ซ้อมไปซ้อมมา ซ้อมไปคิดไป ในสมองเกิดไอเดียแผลงๆ เขาลองเอาชุดบอลจากกล่องมาสองชุด แล้วใช้ฝา (Shell) สองฝาประกบกับลูกบอลหนึ่งลูก กลิ้งไป กลิ้งมา ระหว่างนิ้ว กลิ้งไป คิดไป ลองหยิบลูกบอลอีกหนึ่งลูก หนีบซ่อนไว้ในอุ้งมือ (Classic Palm) ทั้งฝา และ ลูกบอล หล่นจากมือลงพื้น ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง กว่าจะได้เทคนิคที่ทำให้เขาได้รางวัล Award Winning Billiard Ball Act ในปีต่อๆ มา นั่นคือ สามารถเนรมิตลูกบอลจากหนึ่งลูกเป็นสี่ลูก ในคราวเดียว และด้วยมือเดียว เทคนิคนี้ยังกลายเป็นต้นแบบให้นักมายากลทั่วโลกได้นำไปแสดงจนแพร่หลายในปัจจุบัน


ชุดบอลทวีคูณ ปี 1956 และ ปี 2016

เวลาอยู่บ้านเขาหงุดหงิดกับคุณแม่เขาหลายครั้ง ที่ถูกสั่งให้เลิกฝึกบอล แล้วไล่ให้ไปนอน แต่เขาก็ไม่ยอมเลิกฝึก จนแม่เขาต้องเอาลูกบอลไปเก็บไว้ในอีกห้องหนึ่งแล้วล๊อคกุญแจ "คุณแม่ปิดไฟในห้องนอน แล้วบอกให้ผมรีบนอน ตัวผมนอนอยู่บนเตียง หลับตาแต่มือสองข้างยังคงเปะปะทำท่าเนรมิตลูกบอลในความมืดอยู่อีกนาน จนคุณแม่บอกว่า สงสัยลูกฉันจะบ้าไปแล้ว" เขาเล่าถึงคุณแม่ในวันนั้นอย่างอารมณ์ดี

Tenyo คงเห็นว่าไอ้เด็กอายุ 17 คนนี้ มีความบ้าในมายากลเข้าขั้น จึงอนุญาตให้เขาติดตามไปเวลาไปโชว์ตามที่ต่างๆ ให้เขาช่วยจัดอุปกรณ์และยกขึ้นไปตั้งบนเวที และยังมอบงานให้เขาได้โชว์มายากลช่วงสั้นๆ บนห้างสรรพสินค้า Mitsukoshi ในกรุงโตเกียว นับเป็นโอกาสทองของ Shimada ที่ได้แสดงฝีมือชุดบอลทวีคูณที่คิดค้นขึ้นเองต่อหน้าสาธารณชน

ข่าวการแสดงชุดบอลทวีคูณ ของ Shimada เลื่องลือจนไปเข้าหูของ Tenkai นักมายากลชาวญี่ปุ่น ที่กลับจากการตระเวนทัวร์การแสดงที่อเมริกา Tenkai ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความชำนาญการแสดงในแนวความช่ำชองของมือ (Manipulation) เมื่อได้ยินกิตติศัพท์การแสดงของ Shimada จึงเกิดการขอดูตัว อยากดูตัวเป็นๆ (Tenkai ผู้นี้เป็นผู้ที่คิดค้นเทคนิคการซ่อนของในมือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ Tenkai Palm)


Tenkai Ishida
(1889-1972)

Tenyo จึงได้ถือโอกาสแนะนำให้ทั้งสองได้รู้จักกันในวันหนึ่ง หลังจาก Tenkai ได้ชมการแสดงบอลทวีคูณของ Shimada เขาถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ ก่อนจะถาม Shimada ว่า "ไอ้หนู ทำไมเอ็งไม่ใช้มือซ้ายของเอ็งด้วยวะ" จากประโยคนี้ ทำเอา Shimada ต้องกลับเป็นฝ่ายที่ต้องอึ้งไปชั่วขณะ เขารำพึงในใจ "เราเองเป็นคนถนัดมือขวา แต่ทำไมเราไม่เคยคิดถึงมือซ้ายบ้างเลย"

เขาถาม Tenkai "คุณหมายความว่าให้ผมเนรมิตลูกบอลด้วยมือสองข้าง ๆ ละ 4 ลูก รวมเป็นแปดลูกในคราวเดียวกันหรือครับ ?" Tenkai ไม่ได้ตอบแต่ผงกหัวแล้วพูดว่า "ให้เวลาเอ็งสามเดือนแล้วไปออกตระเวนโชว์ด้วยกัน"

"สามเดือน" เป็นคำที่ก้องอยู่ในหัวของ Shimada เขามีเวลาเพียงสามเดือนในการฝึกสองมือ และต้องออกตระเวนแสดง "เอาวะ" คือคำที่เขาสัญญากับตัวเอง จากนั้นทุกวันหลังกลับจากการเรียนในรอบค่ำ เขาใช้เวลาถึงตีสาม ฝึกซ้อมอยู่ที่ บริษัท Tenyo เพราะที่นั่นมีกระจกเงาบานใหญ่ติดอยู่ข้างฝา

ค่ำคืนที่เงียบสงัด ไม่มีเสียงคนรบกวนเพราะต่างหลับไหล มีแต่คนบ้าหนึ่งคน กับกระจกหนึ่งบาน และเสียงลูกบอลหล่นพื้นเป็นระยะ ๆ

ประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้น ไม่มีตำรามายากลจากต่างประเทศ จะมีก็เพียงตำรามายากลโบราณ ที่เขียนโดยนักมายากลบรรพชนที่บันทึกสืบต่อกันมาเป็นทอด ๆ ดังนั้นทุกอย่างที่เขาฝึกซ้อมจึงต้องอาศัยจินตนาการล้วน ๆ ลองผิด ลองถูก จนได้เทคนิค และ รูทีน (Routine) ที่เป็นของเขาเอง ไม่มีคำว่า ครูพัก ลักจำ หรือเลียนแบบ

เราลองนึกภาพตามว่า เขาแสดงบอลทวีคูณด้วยสองมือให้เป็นแปดลูก ด้วยลูกบอลไม้ทาสี ที่มีความลื่น ไม่ใช่ลูกบอลยางที่มีความหนืดมือเหมือนอย่างสมัยนี้

"ผมไม่เรียกว่าพรสวรรค์" เขาเอ่ยขึ้น "ผมเรียกมันว่า ความบ้า ผมจำไม่ได้ว่าผมฝึกซ้อมสองมือกี่หมื่นครั้ง จำไม่ได้จริง ๆ" เขาตั้งชื่อการแสดงบอลทวีคูณของเขาว่า "The Million Ball" เขาใช้ลูกบอลมากถึง 35 ลูกในหนึ่งชุดการแสดง มีทั้งเนรมิต ทำหาย เปลี่ยนสี และ ทวีคูณ

ในปี 1959 มีภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ค่ำคืนของชาวยุโรป เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่กรุงโตเกียว เป็นภาพยนตร์ขาวดำบันทึกเรื่องราวชีวิตของชาวยุโรปในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการแสดงของหลากหลายศิลปินที่สอดแทรกอยู่ในนั้น หนึ่งในนั้นคือ การแสดงมายากลนก ของ Channing Pollock นักมายากลชาวอเมริกัน มีความยาว 5 นาที ในยุคที่ไม่มีวีดีโอ ดีวีดี และ ยูทูป Shimada ได้ตีตั๋วเข้าชมซ้ำถึง 9 รอบ ด้วยความทึ่งและชื่นชม


Channing Pollock (August 16, 1926 - March 19, 2006)

ไม่เพียงแต่เทคนิคของมายากลที่ทำให้ Shimada ตื่นตาตื่นใจ แต่เขายังประทับใจในท่วงท่าลีลาและบุคคลิก ของ Channing Pollock ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้จัดการประจำตัวของ Shimada ระยะหนึ่งและสุดท้ายได้กลายเป็นเพื่อนรักกัน

Shimada ครุ่นคิดถึงการแสดงของเขาในขณะนั้นแล้วเห็นว่า การแสดงแค่ลูกบอลไม่เพียงพอที่จะใช้ในการแสดงระยะยาว เพราะสั้นเกินไปและขาดความหลากหลาย ภาพการแสดงมายากลนกที่ดูในภาพยนตร์ 9 รอบนั้น ยังคง วนเวียนฉายต่อเนื่องในสมองของเขา ประกอบกับในตอนนั้น Tenyo ก็เป็นผู้หนึ่งที่แสดงมายากลนก เขาจึงได้แนะนำ Shimada ให้ลองฝึกกลนกบ้าง

วันหนึ่ง Shimada มีโอกาสได้ไปที่บ้านของ Tenyo เขาได้เห็นซองนกหลากหลายแบบบนโต๊ะทำงาน เขาหยิบขึ้นมาพลิกไปมา จู่ ๆ ก็เกิดไอเดียบางอย่าง จึงได้รีบวานให้ภรรยาของ Tenyo ช่วยเย็บซองนกแบบที่ไม่มีซิปรูดเปิด-ปิด (ในสมัยนั้นยังไม่มีตัวประกบตีนตุ๊กแก) ซองนกนี้ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้นักมายากลรุ่นหลัง ๆ ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย

เขาบอกกับ Tenyo ว่า "ท่านอาจารย์ ผมได้ลองทำซองนกแบบใหม่ เป็นแบบที่ไม่มีซิป และสามารถใช้งานด้วยมือเดียวได้ ท่านอาจารย์ ลองเอาไปใช้ดูนะครับ"

แทนที่ Tenyo จะนำไปใช้แสดงเอง เขากลับถามห้วน ๆ ว่า "สิบได้ไหม"

"อะไรนะครับ สิบ คืออะไร ?" Shimada ย้อนถาม

"ก็สิบตัวไง" Tenyo ตอบ

"อาจารย์ หมายถึงให้แสดงกลนกสิบตัว เหรอครับ ?" Shimada ถามด้วยสีหน้าแตกตื่น

"Channing Pollock ที่เห็นในภาพยนตร์ เขาเนรมิตนก 7 ตัว ถ้าเอ็งสามารถแสดงได้ 10 ตัว อาจารย์จะเปิดการแสดงให้เอ็ง ที่โรงภาพยนตร์ Misukoshi ตกลงไหม ?" Tenyo ถาม

หลังจากนั้นไม่นาน การแสดงชุด Seki no Hato (นกแห่งศตวรรต) ก็ได้กำเนิดขึ้น บนพิภพนี้

 


การแสดงมายากลนก ของ Shimada แม้จะได้ต้นแบบมาจาก Channing Pollock แต่ต่างกันในเรื่องของเทคนิคของ Channing Pollock เป็นการเนรมิตโดยการใช้สองมือถือผ้า แล้วค่อย ๆ ใช้สองมือบรรจงปั้นให้นกออกมา แต่ของ Shimada เป็นการเนรมิตนกออกมาแบบฉับพลัน บางครั้งมือเดียว บางครั้งสองมือ เขายังเป็นนักมายากลนกคนแรกที่ฝึกให้นกที่โยนออกไป บินกลับมาเข้ามือ และยังคิดค้น เนรมิตนกจากไพ่ที่คลี่เป็นพัด นกบนไม้เท้า โยนนกสองตัวให้กลายเป็นผ้าพร้อม ๆ กัน และอีกหลากหลายเทคนิค

ในปี 1961 Shimada ได้ออกตะเวนโชว์ไปตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งรายการทีวี อีกหลายสถานี วันหนึ่งเขาได้ไปออกแสดงในรายการช่องหนึ่ง ชื่อ Don Ameche’ s International Showtime รายการนี้ได้ถ่ายทอดสดไปยังช่อง NBC ประเทศอเมริกา การแสดงในวันนั้นทำให้ชื่อเสียงของ Shimada ในวัย 21 ปี เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ


ออกอกาศทางสถานี NHK ปี 1961


ในปี 1964 Harry Wren โปรโมเตอร์ (นักจัดโชว์) ชาว ออสเตรเลีย ได้เดินทางไปโตเกียว เพื่อผลิตรายการทีวี ชื่อ Tokyo Nights ซึ่งจะนำออกอากาศที่ประเทศออสเตรเลีย เขาได้เห็นการแสดงของ Shimada ขณะที่แสดงในโรงละคร Misukoshi รู้สึกประทับใจอย่างมาก จึงเอ่ยปากทาบทามให้เขาไปออกทัวร์การแสดงที่ ออสเตรเลีย และนั่นคือประสบการณ์ที่ได้ไปเปิดการแสดงที่ต่างประเทศครั้งแรกของ Shimada


ขณะแสดงที่โรงละคร Mitsukoshi ในกรุงโตเกียว ปี 1959

ขณะที่เปิดการแสดงที่ โรงละคร Her Majesty’s เมือง Adelaide ประเทศออสเตรเลีย เขาได้พบกับสาวสวย Deanna Perkins ผู้ที่เอ่ยปากชวนเชิญให้เขาไปร่วมงานปาร์ตี้ที่บ้านของเธอ เป็นครั้งแรกของ Shimada ที่ได้ไปงานปาร์ตี้นอกประเทศญี่ปุ่น เขาไม่รู้ว่าต้องแต่งกายอย่างไรให้ถูกกาละเทศะ เขาจึงเลือกที่จะแต่งชุดทักซิโดเต็มยศไปร่วมงาน และในงานเขาเป็นเพียงคนเดียวในงานที่แต่งเต็มยศ ในขณะที่คนอื่นแต่งกายแบบลำลอง

"ผมเขินมาก ๆ เลยในวันนั้น" เขาหัวเราะ "ผมพยายามใช้ภาษามือปนอังกฤษเพื่อสื่อสารกับ Deanna แต่ก็คุยกันไม่ค่อยเข้าใจ ผมเลยสื่อสารด้วยการแสดงมายากล Close Up กับเธอ" และวันนั้นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Deanna เริ่มตกหลุมรักนักมายากลจากแดนอาทิตย์อุทัยคนนี้ จนต่อมาได้เป็นภรรยาร่วมชีวิต และร่วมแสดงบนเวทีต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี


แสดงชุดพัด ชุดร่ม คู่กับ Deanna Perkins ภรรยา


ทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรสาว ชื่อ Lisa ซึ่งภายหลังได้เป็นภรรยาของ Dirk Losander (ราชาโต๊ะลอย) และเธอยังเป็นนักมายากลที่มากฝีมือ ชื่อในการแสดงของเธอคือ Lunar ที่หมายถึงดวงจันทร์ (อ่านเรื่องราวของเธอได้ที่ http://www.jortorball.com/story/article/luna-shimada)

Shimada และ Deanna ร่วมกันตระเวนโชว์ ทั้งในออสเตรเลีย และได้ข้ามไปแสดงที่ โรงละคร Teatro Blanquita ประเทศเมกซิโก ระยะหนึ่งก่อนจะกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น บ้านเกิด จากนั้นทั้งสองได้ตระเวนแสดงไปทั่วทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย (ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ Shimada ในปี 1988 ที่ญี่ปุ่น เขาเล่าว่า ในปี 1970 เคยมาเปิดการแสดงในเมืองไทย ที่ ฮันนี่ไนท์คลับ ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) และเขาชื่นชอบอาหารไทยมาก)


ผู้เขียน และ Shimada
ในงาน FISM 2018 เมืองปูซาน เกาหลีใต้


ที่กรุงเทพฯ เขาได้พบเพื่อนนัก Juggling ที่มาเปิดการแสดงเช่นกัน ได้แนะนำให้เขาไปเปิดการแสดงที่ เยอรมันนี ด้วยความที่ต้องการหาประสบการณ์ เขาจึงรีบเขียนจดหมายติดต่อไปยัง เอเยนต์ที่ เยอรมันนี แต่เมื่อไปถึงที่นั่นการแสดงของเขาไม่ได้รับการต้อนรับเท่าที่ควร เขาจึงตัดสินใจย้ายจากเยอรมันนีไปที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าการแสดงชุด มายากลนก ไพ่ และ บอลทวีคูณ ได้รับการต้อนรับอย่างดี เขาจึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนพักใหญ่

เอเยนต์ที่ลอนดอน บอกกับเขาว่า "ที่นี่มีนักมายากลเยอะมาก ที่แต่งชุดทักซิโด้ ทำไมคุณไม่แต่งชุดประจำชาติของญี่ปุ่น เวลาแสดงบนเวที มันจะทำให้ดูแปลกตาขึ้นนะ" จากคำพูดนี้ ทำให้หลอดไฟบนหัวเขาสว่างดัง ปิ๊ง เขารีบออกไปหาซื้อชุด กิโมโน และ ชุดฮากามะ (กางเกงหลวมคล้ายกระโปรง) แล้วมาดัดแปลงตัดเย็บกระเป๋าสำหรับซ่อนนก และของต่าง ๆ ขณะที่กำลังซ้อมอยู่นั้น หลอดไฟบนหัวก็ดังปิ๊งขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง

แสดงชุดพัดกับหน้ากาก คาโบกิ

ชุดที่กิโมโน และ ฮากามะ ที่กำลังซ้อมอยู่นั้น มีเนื้อที่เหลืออีกมากพอที่จะซ่อนของอย่างอื่น นอกจาก นก ไพ่ ลูกบอล เขาจึงออกไปหาซื้อ พัดกระดาษ และ ร่มกระดาษ แบบโบราณของญี่ปุ่น นั่งคิดนอนคิดถึงรูทีนใหม่ ๆ ที่จะผสมผสาน นก ไพ่ ลูกบอล พัด และ ร่ม เข้าด้วยกัน คิดไปซ้อมไปสักพัก ก็ยังไม่ได้ดั่งใจ

เขาติดใจตรงที่ว่า เวลาเนรมิตร่มออกมาแล้ว ต้องคอยใช้มือรูดขึ้นเพื่อกางร่มออก และต้องใช้ถึงสองมือ มือหนึ่งถือ มือหนึ่งรูด เป็นภาพที่ดูแล้วไม่เกิดความมหัศจรรย์ ทำอย่างไรให้เวลาเนรมิตออกมาแล้ว ร่มสามารถเด้งกางออกมาเองได้ เขาคิดอยู่หลายวัน

เขาลองดัดแปลงใช้สปริงโลหะ ยึดติดระหว่างใบร่มและก้านร่ม ซึ่งจะดีดตัวทำให้ร่มกางออกเองได้ แต่ด้วยความที่ร่มทำจากกระดาษจึงบอบบางเกินกว่าจะรองรับแรงดันของสปริงที่เป็นโลหะได้ เด้งกางอยู่ไม่กี่ครั้งก็ขาด เขาทดลองทำวิธีต่าง ๆ อยู่นาน จนสุดท้ายมาลงตัวตรงที่ใช้หนังยางหลาย ๆ เส้นมัดรวมกันทำหน้าที่เป็นตัวดีดให้ร่มกางออก ในร่มหนึ่งคันเขาไม่ได้ใช้หนังยางแค่ชุดเดียว แต่ใช้ถึงสามชุด เขาให้เหตุผลว่าเผื่อชุดใดชุดหนึ่งขาดในขณะแสดง ก็ยังมีสำรองอีกสองชุดที่จะทำให้ร่มเด้งกางออกได้


เนรมิตร่มคู่ จากมือเปล่า


การเนรมิตร่ม เป็นมายากลเก่าแก่ของจีนที่มีมานานกว่าสองร้อยปี แต่เป็นการเนรมิตจากการเอาผ้าหลายผืนมารวมกัน แล้วดึงร่มออกจากกองผ้านั้น แต่การแสดงร่มของ Shimada เป็นการเนรมิตทั้งจากผ้า คบเพลิง และมือเปล่า เนรมิตแบบทวีคูณจากหนึ่ง เป็นสอง เป็นสาม แล้วต่อกันสูงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ การแสดงร่มของเขาได้กลายเป็นต้นแบบของนักมายากลในรุ่นต่อ ๆ มา

จากการทำชุดการแสดงใหม่นี้เอง ทำให้เขาได้รับการติดต่อให้กลับไปแสดงที่ เม๊กซิโก อีกครั้ง คราวนี้เขาได้แสดงทั้งในโรงละคร และยังมีโอกาสได้แสดงสดทางทีวี หลังจากการถ่ายทอดออกอากาศจบลง มีประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์เข้าไปที่สถานีโทรทัศน์ เพื่อแสดงความชื่นชมการแสดงของเขา

จากการออกอากาศในครั้งนั้น เขาได้รับการติดต่อจาก Senor Dreillano ผู้อำนวยการทีวีแห่งชาติของเมกซิโก ให้เขาไปแสดงในรายการ Siempre en domingo ซึ่งออกอากาศสด ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ในรายการนั้นมีนักมายากลเวียนมาออกรายการมากมาย เช่น Slydini, Goldfinger and Dove ฯลฯ การแสดงของ Shimada ได้รับการต้อนรับอย่างดี

หากพูดถึงประเทศอเมริกาในช่วงเวลานั้น เป็นดินแดนสวรรค์ที่นักแสดงจากทั่วโลกใฝ่ฝันจะไปขุดทองที่นั่น รวมทั้ง Shimada แต่การขอวีซ่าเข้าประเทศ เป็นเรื่องยากเข็ญยิ่งนัก (ปัจจุบันยังคงเป็นอยู่) Slydini และ Goldfinger แนะนำเขาว่า Milt Larsen (เจ้าของ Magic Castle ในอเมริกา) กำลังจะทำรายการโชว์ ในชื่อว่า It’s Magic ! เป็นรายการโชว์ทางทีวีที่ยิ่งใหญ่มาก มีเพียงปีละหนึ่งหน ให้ลองติดต่อไปดู

Shimada รีบเขียนจดหมายไปหา Milt Larsen บรรยายถึงชุดการแสดงมายากลของเขาในชุดเครื่องแต่งกายญี่ปุ่น เนรมิต ร่ม นก ไพ่ ลูกบอล ฯลฯ  เพียงไม่นาน Shimada และ ภรรยา ก็ได้เหินฟ้าไปอเมริกา โดยที่ Milt Larsen เป็นธุระจัดการในเรื่องวีซ่าเข้าประเทศ และที่นั่นเอง ที่ทำให้ชื่อเสียงของ Shimada ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รายการ It’s Magic ! เป็นรายการที่ทำให้ให้เขาแจ้งเกิดอย่างแท้จริง


การแสดงชุดมังกร ทางรายการ It’s Magic ปี 1970 ที่ อเมริกา

 

 


คนไทยได้มีโอกาสรู้จัก Shimada ครั้งแรกจากกรายการโลกมายากล ที่ทาง 72 โปรโมชั่น นำเทปมาออกอากาศสัปดาห์ละครั้ง ๆ ละครึ่งชั่วโมง ผู้เขียนยังจำได้ว่าในรายการนั้นคนพากย์ออกเสียง Shimada ว่า จูมาด้า นอกจาก Shimada แล้ว รายการนี้ยังทำให้คนไทยได้รู้จัก Doug Henning, Mark Wilson, Tomsoni, Norm Nielsen, Richard Ross ฯลฯ และรายการนี้เองที่เป็นจุดเริ่มทำให้นักมายากลไทยหลายคนได้เกิดขึ้น รวมทั้งนิตยสารมายากล และพ่อค้าผู้จำหน่ายอุปกรณ์มายากล


แสดงมายากลนก คนไทยได้เห็นครั้งแรกทางโทรทัศน์ ในรายการโลกมายากล


Shimada ได้รับการยกย่องจากวงการมายากลโลก ให้เป็น ตำนานที่ยังมีชีวิต เป็นนักคิด นักสร้าง และ ปรมาจารย์

ครั้งหนึ่ง Shimada ได้เคยให้แนวคิดกับนักมายากลรุ่นลูก รุ่นหลานไว้ว่า


"เราไม่สามารถบอกได้ว่า ใครคือนักมายากลที่เก่งที่สุด เพราะแต่ละคนจะเก่งที่สุดในแนวทางที่ตนเองถนัด แต่ใครจะประสบผลสำเร็จในอาชีพมากกว่านั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากต้องการให้การแสดงของคุณเป็นที่จดจำ ตัวคุณ บุคคลิกของคุณ การนำเสนอ และความสามารถในการแสดงต้องโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อการแสดงจบ ผู้ชมจ้องชื่นชมและจดจำตัวคุณได้ ไม่ใช่จดจำอุปกรณ์ หรือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย"

 

ภาพประกอบบทความ (เพิ่มเติมจากต้นฉบับของผู้เขียน)

- https://www.needandwish.com
- https://7aothuat.com/dao-cu-ao-thuat-duoc-ua-chuong.html
- https://www.magicana.com/news/blog/take-two-64-channing-pollock


Share