จรรยาบรรณ ของ นักมายากล
- รายละเอียด
- เขียนโดย ชาลี ประจงกิจกุล
แทบจะทุกวงการ ทุกอาชีพ เช่น แพทย์ ครู นักหนังสือพิมพ์ นักดนตรี นักเขียน นักบัญชี นักมวย ฯลฯ ต่างต้องมี จรรยาบรรณ ของตนเอง และต้องประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด
คำว่า "จรรยาบรรณ" พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า จรรยาบรรณ (จัน-ยา-บัน) น. ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกําหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
จรรยาบรรณ นี้ ไม่ใช่ "กฎ" ไม่ใช่ "ข้อบังคับ" หากแต่เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ในสังคมอาชีพนั้น ๆ จำต้องพึงปฏิบัติ และ มีความสำนึกในระดับที่ลึกลงสู่จิตสำนึก เปรียบเสมือนธรรมนูญประจำใจ จรรยาบรรณ ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเลยเหมือนกฏหมาย แต่สิ่งที่สมาชิกในสังคมอาชีพนั้น ๆ จะมอบให้กับผู้ที่ละเลย มันใหญ่หลวงและรุนแรง จนแทบไม่มีพื้นที่ให้ผู้ที่ละเลยได้วางเท้าของตน ติดคุกตามกฏหมายยังมีวันพ้นโทษ แต่ติดโทษทางสังคมนั้น ไม่มีอายุความ
ในวงการ มายากล ของพวกเราก็เช่นกัน เรามี จรรยาบรรณนักมายากล และ จรรยาบรรณ ของเราก็มีข้อแตกต่างจากจรรยาบรรณของสาขาอาชีพอื่น จรรยาบรรณนักมายากล ไม่ได้มีให้พึงปฏิบัติ สำหรับผู้มีอาชีพเป็นนักมายากลเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึง นักมายากลสมัครเล่น และยังเคร่งครัดถึงผู้ที่ซื้ออุปกรณ์มายากลไปเล่นสนุก ๆ (ซึ่งอาจจะเคร่งครัด หนัก-เบา ต่างจากผู้ที่ยึดเป็นอาชีพและสมัครเล่น)
Image by anncapictures from Pixabay
จรรยาบรรณนักมายากลนี้มีความเป็นสากล นักมายากลทั่วโลกพึงปฏิบัติเหมือนกันหมด สมาคมนักมายากลโลก 2 สมาคม The International Brotherhood of Magicians (I.B.M.) และ The Society of American Magicians (S.A.M.) ก็ให้สมาชิกทั่วโลกของตนยึดถือปฏิบัติมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
แต่เดิมจรรยาบรรณนักมายากลของสากล มีอยู่ 5 ข้อ ดังนี้
1. ไม่เปิดเผยความลับ
2. ไม่จับผิดการแสดงของผู้อื่น
3. ไม่แสดงกลเดิมซ้ำในวาระเดียวกัน
4. ต้องฝึกฝนให้ชำนาญก่อนออกแสดง
5. หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ
ผู้เขียนได้เห็นจรรยาบรรณนักมายากลเป็นภาษาไทยครั้งแรกจากเอกสารของ ชมรมวิทยากล สยามเมจิก ในปี พ.ศ. 2520 และหลังจากนั้นได้เผยแพร่ไปยังร้านจำหน่ายอุปกรณ์มายากลตามห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง โดยติดไว้บนตู้กระจกให้กับผู้ซื้อได้อ่านและนำไปปฏิบัติ แม้แต่อุปกรณ์มายากลของ Tenyo ประเทศญี่ปุ่นในยุคก่อน ๆ ยังมีจรรยาบรรณนักมายากล พิมพ์ไว้ในกระดาษสอนวิธีการแสดง
จรรยาบรรณนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และตามบริบทของสังคมนั้น ๆ ในปัจจุบัน จรรยาบรรณนักมายากล ของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกันก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละสมาคม หรือ ชมรม มีเป้าประสงค์ของตนอย่างไร แม้แต่สมาพันธ์นักมายากลโลก The International Federation of Magic Societies (FISM) (The Fédération Internationale des Sociétés Magiques) ก็ยังไม่ได้กำหนดตายตัว หากแต่ให้ประเทศสมาชิกของตนกำหนดกันเองตามความเหมาะสม แต่โดยรวมก็ยังมีเนื้อหาไม่ต่างจาก 5 ข้อเดิม ดังกล่าวข้างต้น
ตัวอย่าง จรรยาบรรณนักมายากล ในปัจจุบันบางแห่ง
1. ไม่เปิดเผยความลับ
2. ไม่จับผิดการแสดงของผู้อื่น
3. ไม่แสดงกลเดิมซ้ำในวาระเดียวกัน
4. ต้องฝึกฝนให้ชำนาญก่อนออกแสดง
5. หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ
6. ไม่ขโมย หรือ เลียนแบบ (ก๊อปปี้) ไอเดียของผู้อื่น
7. ต้องให้เครดิตแก่เจ้าของไอเดียและผู้คิดค้น
8. ร่วมกันพัฒนาศิลปะการแสดงมายากลให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น
จะเห็นได้ว่า จรรยาบรรณนักมายากล เป็นสิ่งที่นักมายากลทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากเราเป็นผู้ที่รักใน ศาสตร์และศิลปะการแสดงมายากล ไม่ว่าจะเป็น สมัครเล่น อาชีพ นักสะสมอุปกรณ์ หรือ เป็นผู้ที่ซื้อมาเล่นสนุกเป็นครั้งคราว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจในเรื่องของ จรรยาบรรณ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากคิดว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็ไม่ควรก้าวเข้าไปในสังคมนั้น ๆ เพราะจะทำให้สังคมนั้น วงการนั้น เกิดความเสื่อมเสีย รวมทั้งตนเองด้วย
The Conjurer (painting) by Hieronymus Bosch and workshop
ท่านสามารถพัฒนา วงการมายากล ได้ 2 วิธี
1. ก้าวเข้าไปร่วมพัฒนาอย่างสร้างสรรค์
2. รีบเดินออกไปอย่างรวดเร็ว
บทความนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้
โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้เขียน
ชาลี ประจงกิจกุล