เกร็ดเรื่องราว บอลทวีคูณและบอล Fakini



เชื่อได้ว่าไม่มีนักมายากลคนใดที่ไม่รู้จัก บอลทวีคูณ (Multiplying Ball) ลูกบอลหนึ่งลูกบนปลายนิ้วของนักแสดงกลิ้งไปมาจากนิ้วหนึ่งไปยังอีกนิ้วหนึ่ง  มันหายจากนิ้วมือขวาไปอยู่บนนิ้วมือซ้ายแล้วหายกลับมายังมือขวา จากหนึ่งลูกเพิ่มจำนวนเป็นสองลูก สามลูกและสี่ลูก ทุกอย่างเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยไม่มีอะไรมาปิดบัง โอ้ว...นี่มันมายากลชัด ๆ


บอลทวีคูณ (Multiplying Ball)


เทคนิคต่าง ๆ ของบอลทวีคูณที่เราได้เห็นในปัจจุบัน ไม่ได้เหมือนกับการแสดงดั้งเดิม ในปี ค.ศ. 1875 ที่แสดงโดยนักมายากลชาวฝรั่งเศส Buatier De Kolta ในชื่อชุดว่า The Excelsor Ball การแสดงในยุคนั้น Kolta ใช้มือขวาเนรมิตลูกบอลที่มีขนาดเล็กกว่าลูกบิลเลียดเล็กน้อยทีละลูก แล้วนำไปใส่ไว้ในมือซ้ายที่หงายขึ้น นิ้วทั้งหมดชี้ขึ้นด้านบน ลูกบอลแต่ละลูกที่ถูกเนรมิตขึ้นนี้ เขาจะนำมาใส่ไว้ระหว่างนิ้วแต่ละนิ้วและในอุ้งมือ ลูกแล้วลูกเล่าจนกระทั่งเต็มมือ ก่อนจะจบลงด้วยเสียงปรบมือจากผู้ชม


Buatier De Kolta


การแสดงชุด The Excelsor Ball ที่ Del Kolta แสดงเป็นการใช้ลูกบอลล้วน ๆ โดยไม่มี "Gimmick" ตามที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน เขาใช้ลูกบอลและความคล่องแคล่วของมือ (Sleight of Hand) มารังสรรค์ให้เป็นงานที่เราเรียกกันในหมู่นักมายากลว่า Manipulation คือการทำงานโดยใช้มือเป็นอาวุธสำคัญ

กว่าจะมี Gimmick ที่เป็นรูปร่างเรารู้จัก ต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 1889 ที่ผลิตโดยพ่อค้าขายอุปกรณ์มายากลชาวเยอรมัน August Roterberg เขาได้ไอเดียในขณะที่กำลังซ่อมอุปกรณ์ที่เรียกว่า ถ้วยบอล (Ball and Vase) ของลูกค้ารายหนึ่ง ถ้วยบอล นี้คือ อุปกรณ์ที่มีรูปทรงคล้ายถ้วยรางวัลแต่มีขนาดเล็ก มีฝาปิดที่มียอดแหลม เมื่อหยิบลูกบอลสีแดงข้างในออกมา แล้วปิดฝา หลังจากที่ทำให้ลูกบอลหายไป เมื่อเปิดฝาอีกครั้ง ลูกบอลก็ได้กลับคืนมาอยู่ข้างใน  


August Roterberg

 

Ball and Vase
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.penguinmagic.com/p/S28535


Roterberg จับ Gimmick ของถ้วยบอลไปมาในขณะที่ทำการซ่อมแซม ทำให้เขาเกิดไอเดียว่าถ้ารวม เจ้า Gimmick ตัวนี้กับลูกบอล จะสามารถทำให้เกิดกลชุดใหม่ได้ เขาจึงได้คิดสร้างกระบวนการแสดงขึ้นและได้ตีพิมพ์บทความไว้ในหนังสือสองเล่ม The Modern Wizard (ปี ค.ศ. 1894) และ Latter Day Tricks (ปี ค.ศ. 1896)

แต่แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่า เป็นไอเดียของ Mr.Braun พนักงานที่ทำงานอยู่ในร้านของ Roterberg ขณะกำลังซ่อมถ้วยบอล เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องสืบค้นกันต่อไป

หลังจากนั้นผู้ที่แสดงบอลทวีคูณให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือ Carl Willmann นักมายากลชาวเยอรมัน เขาออกตระเวนแสดงในชื่อชุดว่า Chicago Ball ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นแบบของการแสดงบอลทวีคูณ โดยใช้ Gimmick ของ Roterberg ในรูปแบบปัจจุบันที่เราคุ้นเคย


Carl Willmann


การแสดงบอลทวีคูณนี้ เป็นที่นิยมในยุโรปอยู่หลายสิบปี ก่อนที่แพร่เข้าไปยังอเมริกาและเอเซียบ้านเรา ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นการแสดงชุดนี้ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1971 ทางโทรทัศน์ช่อง 5 สนามเป้า ในรายการ ยอดมายากล (ถ่ายทอดสด) เป็นการประกวดชิงแชมป์มายากลของประเทศไทยครั้งแรก จัดโดย พ.ต.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก (ยศขณะนั้น - ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ดูแล้วไม่รู้ว่าลูกบอลที่เห็นในทีวีตอนนั้นเป็นสีอะไร เพราะการถ่ายถอดทีวีสมัยนั้นยังเป็นการถ่ายทอดแบบ ขาว-ดำ จำได้ว่าดูแล้วทึ่งมาก ๆ ว่าลูกบอลถูกเนรมิตมาได้อย่างไร


รายการ ยอดมายากล


อีกหลายปีกว่าที่ผู้เขียนจะมีโอกาสได้สัมผัสบอลทวีคูณจริง ๆ ด้วยมือตัวเอง จนกระทั่ง ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้นำอุปกรณ์การแสดงมายากลจากญี่ปุ่น ของบริษัท Tenyo เข้ามาจำหน่ายในปี ค.ศ. 1976 ด้วยอานิสงส์ของ Tenyo ทำให้บอลทวีคูณเป็นที่แพร่หลายในเอเซีย จนทำให้เทคนิคการแสดงบอลนี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ จากการแสดงบอลสีแดงแบบดั้งเดิม กลายเป็นการแสดงเปลี่ยนสี การแสดงด้วย Gimmick อันเดียว เพิ่มเป็น สองอันและสามอัน จากการแสดงด้วยมือเดียวเป็นสองมือ ผ้ากลายเป็นบอล ไม้แวนด์กลายเป็นบอล ฯลฯ เช่น การแสดงของ Shimada, Iwane Yuki, Bon Lee, Kenji หรือ Lukas

 


Tenyo Billiard Balls
แหล่งที่มาของภาพ : http://tenyo-magic.blogspot.com/2010/05/t-036.html


วัสดุที่ใช้ผลิตบอลทวีคูณมีหลากหลาย ทั้งแบบที่ทำด้วยไม้ (Gimmick โลหะ) พลาสติก ยาง ฟองน้ำ ถักด้วยโครเชต์และซิลิโคน สิ่งที่ยากคือการผลิตให้ Gimmick มีวัสดุและสีเดียวกันกับลูกบอลและมีขนาดใกล้เคียงกัน

 


แหล่งที่มาของภาพ : https://tricksupply.com/product/multiplying-balls-white-silicone


นักมายากลทั้งอาชีพและสมัครเล่น ต่างขวนขวายหาลูกบอลที่เหมาะกับตัวเองมาใช้ในการแสดง แต่บอลทวีคูณที่นักมายากลทั่วโลกยกย่องว่าดีที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา คือ ลูกบอลที่ผลิตโดย บริษัท House of Fakini คิดค้นโดย ช่างทำเครื่องมือพลาสติกชาวอเมริกัน Frank Radtke (ค.ศ. 1940 - 2009) เขาผลิตลูกบอลและ Gimmick ออกมาในปี ค.ศ. 1970 โดยใช้วัสดุเดียวกันกับที่ใช้ทำแม่พิมพ์ในวงการทันตกรรม ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ "ซิลิโคน" (สมัยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก)


Frank Radtke


เหตุที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก เพราะมีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ทั้งลูกบอลและ Gimmick ทำด้วยมือทีละชิ้น ทีละลูก มีผิวหนืดเกาะติดมือไม่หล่นง่ายเหมือนที่ทำด้วยไม้ หรือ โลหะ เมื่อหล่นพื้นมันจะกระดอนขึ้นสูง ทำให้ง่ายต่อการรับไว้ด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ไม่ต้องก้มเก็บ ผิวที่เคลือบ Gimmick เป็นวัสดุเดียวกัน สีเดียวกันกับลูกบอล สามารถทำความสะอาดโดยการล้างน้ำได้ แม้จะเก็บไว้นานผิวซิลิโคนยังคงความนิ่ม ไม่เหมือนกับที่ผลิตด้วยยางทั่วไป ที่จะแข็งตัวหรือมีรอยปริแตกและซิลิโคนสีขาวยังคงความขาวไว้ไม่เหลือง

บอลของ Fakini มีหลายขนาด ทั้งขนาด 1 5/8 และ 2 นิ้ว ผู้แสดงสามารถเลือกขนาดที่เหมาะกับขนาดของมือตนเองได้ มีหลายสี ขาว ส้ม เหลือง ม่วง เขียว แดงและน้ำเงิน ราคาตั้งแต่ 90 - 180 U.S. Dollar เมื่อปี ค.ศ. 1970

เขาผลิตจำหน่ายเป็นชุด หนึ่งชุดมีลูกบอล 3 ลูก Gimmick 1 อัน บรรจุในหลอดพลาสติคใส ฝาปิดสีส้ม ติดฉลากว่า Fakini Ball จนกลายเป็นเอกลักษณ์ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่ถูกลอกเลียนมาจนถึงปัจจุบัน

 


ฉลาก Fakini Ball


เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่ Frank Radtke เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2009 ก็ไม่มีผู้รับช่วงเป็นผู้ผลิตต่อ มีแต่เพียงลูกชายที่รับหน้าที่เป็นผู้จำหน่ายต่อจากพ่อ เมื่อจำหน่ายจนของในสต๊อกหมดก็เลิกลาไป ผู้ที่ต้องการบอลของ Fakini ปัจจุบันนี้ต้องหาซื้อตามสินค้ามือสอง หรือประมูลใน ebay ที่มีราคาชุดละแตะหมื่นและหาค่อนข้างยาก

โชคดีที่ผู้เขียนได้สั่งบอลของ Fakini ไว้ในปี ค.ศ. 1987 โดยสั่งร่วมกับ ฟิลิป และ เจริญ อุดมวันสุขทวี (เสียชีวิตแล้ว) เพื่อให้ทั้งสองท่านใช้ในการประกวด FISM และได้สั่งเพิ่มให้กับ ปัญจรัตน์ (ปอง) ชัยรัตน์ติเวช ในปี ค.ศ. 2009 เพื่อใช้ในการแสดงและประกวด

 

Fakini Ball


แม้เวลาจะผ่านมาสามสิบกว่าปีแล้ว ทั้งลูกบอลและ Gimmick ที่ผู้เขียนซื้อไว้ยังคงสภาพดี ซิลิโคนมีความนิ่ม เด้งได้ดี ชุดที่เป็นสีขาวก็ยังคงขาวไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปัจจุบันยังคงใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อสอนให้กับน้อง ๆ ที่สนใจการแสดงในแนว Manipulation

ในอดีตนักมายากลต่างประเทศหลายคนเคยสบประมาทว่าเทคนิคบอลทวีคูณนั้นถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก แต่ปัจจุบันได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันได้ถูกต่อยอดและพัฒนาออกไปอย่างเกินจินตนาการ โดยผู้ที่ต่อยอดนั้นคือ นักมายากลชาวเอเซียนั่นเอง ที่นำเทคนิคใหม่ ๆ นี้ไปประกาศศักดาบนเวที FISM จนนักมายากลต้นตำรับจากยุโรปยังต้องปรบมือให้ เราจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าบอลทวีคูณนี้จะถูกพัฒนาต่อไปอย่างไร

Share