พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรการแสดงของ "คนเล่นกล"
- รายละเอียด
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 08 พฤศจิกายน 2560 17:39
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 28 กุมภาพันธ์ 2560 11:56
- เขียนโดย ชาลี ประจงกิจกุล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
อ้างอิงจาก
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 แผ่นที่ 9
วันที่ 29 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 111 หน้า 57
มีรายงานถึง งานนักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธบาท ที่เกาะสีชัง อย่างสนใจทีเดียวว่า
"นักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธบาท ที่เกาะสีชังปีนี้ โปรดให้เริ่มงานในวันที่ 16 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 111 ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 17 จนถึงวันที่ 19 สามวัน เป็นสมัยบูชาพระพุทธบาท เป็นการเสร็จการในวันที่ 20
วันเริ่มการ คือ ที่ 16 นั้น ผู้ที่จะออกร้านขายของ ได้ตกแต่งร้านตามที่ตนได้จองไว้ หมู่ร้านนั้นมี 2 แห่ง คือ ที่ข้างถนนวชิราวุธ ถนนสรรพเพ็ธ ใกล้ทางขึ้นเขายอดพระจุลจอมเกล้าแห่ง 1
ร้านเหล่านี้ขายของรับประทาน ของเล่น ของใช้ ของบูชา สารพัดทุกอย่าง แลมีร้านตั้งเรี่ยรายบำเพ็ญกุศลในพระพุทธบาท มีแพรสายแถบให้ติดเสื้อเป็นชั้น ๆ ตามที่เข้าเรี่ยรายมากแลน้อย
แลมีโรงเล่นกลที่ใกล้ดงพลับพลาแห่งหนึ่ง เรียกว่า กลสยามมนตรโยคบริษัท คือคนเล่นกลรวมกันจำพวกหนึ่ง
ร้านที่ประตูอัษฏางค์แห่ง 1 เป็นร้านชาวเกาะขายของป่าของทะเลแลอาหาร เพลาค่ำวันที่ 16 นี้ (ภายหลังเลี้ยงน้ำชาเปิดอาคารแล้ว) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร้าน ซึ่งเริ่มต้นในวันนี้ แล้วเสด็จกลับสู่ค่ายหลวง
วันที่ 19 ครั้นเสด็จนมัสการพระพุทธบาทแล้ว เสด็จประพาสร้านอีกคู่หนึ่ง แล้วเสด็จทอดพระเนตรกลสยามมนตรโยคบริษัทแล้วเสด็จกลับ"
หมายเหตุ: ข้างต้นคือข้อความที่ตัดทอนบางส่วนมาจากต้นฉบับในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นการแสดงกลอะไร เดาเอาว่าน่าจะเป็นการแสดงกลที่นำเสนอในรูปแบบของอภินิหาร การเสกมนตร์ คาถา
โดยคาดเดาจากชื่อ กลสยามมนตรโยคบริษัท ซึ่งหมายถึงกลของชาวสยามที่เสนอในรูปของมนตรา ส่วนคำว่า "โยค" หมายถึงการนำมารวมกัน "บริษัท" หมายถึงการที่คนหลาย ๆ คนมาร่วมกันทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง และไม่แน่ใจว่าจะเป็นคณะมายากลคณะแรกของสยามหรือไม่?
โดย ชาลี ประจงกิจกุล
เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2554