ปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปะมายากล ของ Vito Lupo
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 01 พฤศจิกายน 2564 10:08
- เขียนโดย ชาลี ประจงกิจกุล
ผมได้มีโอกาสดูงานของเขาครั้งแรกทางทีวีในราวปี พ.ศ. 2523 - 2524 ในรายการ 72 โปรโมชั่น ที่จัดโดย คุณเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ ในยุคที่เครื่องเล่น/บันทึกวิดีโอเทปยังไม่ที่รู้จักของคนไทย เป็นรายการที่ออกอากาศสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ๆ ละ 30 นาที เป็นรายการที่นำการแสดงของนักมายากลทั่วโลกมาให้ชม เป็นรายการที่เรียกได้ว่าปฏิวัติวงการมายากลไทยเลยทีเดียว นักมายากลไทยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน (อายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อปี พ.ศ. 2564) ล้วนมีจุดก่อเกิดจากรายการนี้ นิตยสารมายากลก็ก่อกำเนิดมาในช่วงนี้เช่นกัน
การแสดงของ Vito Lupo หนุ่มนักแสดงชาวอเมริกัน ที่คว้ารางวัลกรังด์ปรี ของ FISM ปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม ในวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น ผมยังจำได้ว่าผมตกตะลึงมากที่ได้ชมการแสดงของเขาทางทีวีในวันนั้น เพราะในช่วงนั้นผมกำลังศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเต๋า และทำให้ผมนึกถึงเต๋าบทหนึ่งที่ว่าด้วย มรรควิถีแห่งการดำเนินชีวิต ผมต้องกลับไปอ่านหนังสือเล่มนั้นอีกครั้ง แล้วย้อนนึกถึงการแสดงของ Vito Lupo และชื่นชมที่เขาสามารถนำเอาปรัชญามาสอดแทรกผสานกับการแสดงมายากลอย่างลงตัว
ซึ่งหากเราจะชมการแสดงชุดนั้นในมุมของมายากล เราก็จะได้อรรถรสความสนุก ความพิศวง ของมายากล แต่หากจะชมในมุมของปรัชญาว่าด้วยเรื่องของชีวิต เราก็จะเห็นภาพวิถีของชีวิตอย่างชัดเจน นับเป็นความสามารถของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี Vito Lupo ผู้นั้นอย่างยิ่ง
เรามาชมการแสดงชุดนั้นกันก่อนที่จะวิจารณ์ว่า ปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในศิลปะมายากลของเขาคืออะไร
การแสดงนี้เป็นชุดเดียวกันกับชุดที่เข้าประกวด FISM ปี ค.ศ. 1979
การแสดงเปิดตัวในนาทีที่ 03.11 มีคนค่อย ๆ โผล่ออกมาจากกล่องของขวัญ (แต่งหน้าสีขาวแบบละครใบ้ที่เราคุ้นเคย การแต่งหน้าสีขาวนี้เป็นการไม่สื่อถึงเพศใดเพศหนึ่ง จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้) การโผล่ออกมาจากกล่องเปรียบเสมือนว่าชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้เกิดมาบนโลกใบนี้
เมื่อเกิดมาแล้วก็แสวงหาความสุขตามสิ่งเร้าทั้งจากภายนอกและภายในจิตใจของตนเอง อย่างไร้การควบคุม (สื่อโดยการแสดงมายากลอย่างสนุกสนาน) หารู้ไม่ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมันเป็นเพียงมายา (สื่อโดยการใช้ละครใบ้ เนรมิตบุหรี่จากความว่างเปล่า)
เมื่อเกิดมามนุษย์ยังคงมุ่งกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความโลภ ไม่รู้จักพอ มีหนึ่งต้องการสอง สาม สี่ เรื่อยไป (สื่อด้วยบอลทวีคูณ)
เสพทุกอย่าง บริโภคทุกอย่างด้วยความตะกละตะกลาม (การกินบอลฟองน้ำ)
แต่ต่อมานึกเอะใจและฉุกคิดว่า ทั้งหมดนี้ที่เรากำลังตักตวงนี้ ทำไปเพื่ออะไร เปรียบเสมือนช่วงของการค้นหาความจริง โดยการมองเข้าไปในจิตใจตนเอง ต้องคายมันออกมา (การสาวไส้)
จนได้ค้นพบกับกิเลสตัณหาตัวดี ที่อยู่ในใจของเราเอง (บอลแดงลูกใหญ่) เจ้าตัวนี้นี่แหละที่คอยบงการเราให้ทำโน่น ทำนี่ เราจะบังคับมันก็ลำบาก มัน(กิเลสตัณหา)คอยฉุดกระชากเราไปตามแรงของมัน (สื่อโดยการแสดงละครใบ้กับลูกบอล)
เราต้องค้นหาความจริงของชีวิตให้ได้ (เปลี่ยนบอลสีแดงให้กลายเป็นลูกโป่งใส ที่สื่อถึงความใสบริสุทธิ์) จากนั้นฟองสบู่มากมายค่อย ๆ ลอยขึ้นมาจากกล่อง เขาคว้าเอาไว้ฟองหนึ่งด้วยมือทั้งสอง ค่อย ๆ แง้มดู สีหน้าแสดงความดีใจ
เขาค้นพบแล้วว่าที่ผ่านมานั้นเขาตกเข้าไปในวังวนของกิเลสตัณหาที่มองไม่เห็น (หลุดเข้าไปในฟองสบู่ขนาดใหญ่) มันค่อย ๆ บีบรัดตัวเขามากขึ้น ๆ เขาต้องเอาชนะให้ได้ แล้วเขาก็เอาชนะมันได้ (โดยการจิ้มให้ฟองสบู่ที่บีบรัดอยู่จนแตก)
และได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิต (สื่อด้วยลูกแก้วใสในมือที่เป็นลูกแก้วจริง ๆ สัมผัสได้ ไม่ใช่ฟองสบู่อย่างที่เคยเห็น)
เขาเต้นไปมาอย่างลิงโลด ก่อนที่บอกว่าชีวิตของทุกคนสุดท้ายแล้วก็ต้องดับสูญกลายเป็นฝุ่นธุลี (กระดาษฝอยที่ถูกพัด พัดปลิวฟุ้งกระจาย)
แล้วกลับไปสู่ที่เดิม ที่ ๆ เรากำเนิดมา (สื่อโดยการกลับเข้าไปในกล่อง) เราควรที่มุ่งหาสัจธรรมแห่งชีวิต แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับกิเลสตัณหาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน
หลังจากสืบค้นประวัติของ Vito Lupo แล้วผมไม่แปลกใจเลยว่าเขาสร้างสรรค์งานที่สวยงดงามอย่างนี้ได้อย่างไร เขาเป็นนักศึกษา (ขณะนั้น) เขาศึกษาเรื่องการแสดงละครใบ้ และศึกษาเรื่องศิลปะการละคร ของโรงละครบอร์ดเวย์ และกำลังศึกษาเรื่องของปรัชญาตะวันออกฯ
จะเห็นได้ว่าการสร้างงานมายากลของเขานั้น เป็นการสร้างงานอย่างมีการคิดวางแผน มีการวางแก่นเรื่อง กำหนดบุคลิกให้กับตัวแสดงอย่างชัดเจน สามารถถ่ายทอดอารมณ์ สีหน้าท่าทางอย่างตรงตามบทบาทที่วางไว้ และผสานศิลปะต่าง ๆ เข้าหากันอย่างกลมกลืน
ภาพประกอบบทความ
http://bellesandrebellescelebrity.blogspot.com/2016/03/vito-l.html
https://www.youtube.com/watch?v=q3nat3X04Bg