- รายละเอียด
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 01 เมษายน 2563 15:39
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 07 พฤศจิกายน 2560 11:41
ความลับเบื้องหลังการได้แชมป์ ของ ยูโฮจิน
โดย ชาลี ประจงกิจกุล
กว่า 500 คนในปี พ.ศ. 2545 ที่มาร่วมงาน Thailand Magic Convention ซึ่งจัดโดย นายไพรัช ธรสารสมบัติ ประธานชมรมวิทยากล สยามเมจิก
นายไพรัช ธรสารสมบัติ
ประธานชมรมวิทยากล สยามเมจิก
ไม่มีใครเลยจะจะกล้าคาด กล้าคิดว่า เด็กหนุ่มชาวเกาหลีคนหนึ่งที่มาเข้าร่วมประกวดในครั้งนั้น ผู้ที่ได้คะแนนรั้งท้าย ในเวลาอีกไม่กี่ปี เขาจะคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด มหกรรมมายากลระดับโลก FISM ที่เมืองแบล๊คพูล ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2555 ด้วยคะแนนสูงถึง 87 คะแนน และไม่ใช่แค่รางวัลชนะเลิศ แต่ได้รางวัล "แชมป์เหนือแชมป์" เป็นคนเอเชียคนแรกและคนเดียวที่ได้รางวัลนี้ ทำเอาวงการมายากลทั่วโลกตกตะลึง ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน
ในงาน Thailand Magic Convention ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ประกวดอยู่หลังเวที ยังไม่เคยได้ยินชื่อของเขาด้วยซ้ำไป แต่วันนี้นักมายากลทั่วโลกไม่มีใครไม่รู้จักเขา "ยูโฮจิน" และนี่คือรางวัลที่เขาได้รับ
2555 Magic Castle Award "Magician of The Year"
2555 FISM Award (Grand Prix)
2554 IBM Stage Competition 1st Prize
2554 UGM World Magic Seminar 1st Prize
2554 FISM Asia in Hongkong (Grand Prix)
2554 The President Award in Korea
2553 TMA Convention (Two Awards)
2553 BIMF Winner (Three Awards)
2553 Club Magico Italino Avano Terme (Grand Prix)
อย่าว่าแต่นักมายากลทั่วโลกจะคาดไม่ถึงว่า ยูโฮจิน จะมีวันนี้ แม้แต่แม่ของเขาก็ยังต้องแปลกกับลูกชายตัวเอง ที่ต้องถูกโรงเรียนเชิญออกถึง 4 โรงเรียน ด้วยความเกเร จนแม่ต้องไปอ้อนวอนผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่งให้รับเขาไว้
ครั้งนี้ผู้เขียนจะไม่ชวนคุยถึงชีวประวัติของเขา แต่จะมาพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จของเขาว่า มีที่มาอย่างไร มีแนวคิดอย่างไรบ้าง ทั้งทางเทคนิคและในเชิงจิตวิทยา ข้อมูลเหล่านี้ผู้เขียนเรียบเรียงมาจากการสัมภาษณ์ คุณยูจิ ยาซูดะ (เชื้อชาติ ญี่ปุ่น-เกาหลี) ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาจารย์ของ ยูโฮจิน (เขามีอาจารย์หลายคน) เมื่อครั้งที่คุณยูจิ เดินทางมาเยี่ยมบ้านสยามมายา (ชมรมวิทยากล สยามเมจิก) ที่เมืองไทย และจากหนังสือ Tea Time with Magicians, Lecture Note และ WorkShop
ชาลี ประจงกิจกุล (ผู้เขียน), ยูจิ ยาซูดะ และหนังสือ Tea Time with Magicians
จากการออกทัวร์แสดงทั่วโลก คำถามที่ ยูโฮจิน ได้รับการถามมากที่สุด คือ เขามีวิธีหรือเคล็ดลับในการออกแบบชุดการแสดงที่ไปประกวด (FISM Act) อย่างไร ก่อนจะมาฟังกันว่า ยูโฮจิน ตอบว่าอะไร อยากให้พวกเราได้ดูคลิปการแสดงของเขาในชุด FISM Act เพื่อเป็นปูทางและอุ่นเครื่อง
เมื่อซึมซับกับภาพการแสดงของเขาแล้ว เรามาเข้าสู่เนื้อเรื่องที่ ยูโฮจิน อยากจะถ่ายทอดบอกเรา
เราคือ นักมายากล ไม่ใช่ ช่างเทคนิค
คำว่า "นักมายากล" มีความหมายต่างกับ "ช่างเทคนิค" อย่างมาก ช่างเทคนิค ก็คือคนที่นำเอาเทคนิคต่างๆ มาแสดงให้ดู แต่นักมายากลต้องนำเอาเทคนิคมาผสานรวมกับสิ่งต่างๆ อีกมากมาย กว่าจะออกมาเป็นหนึ่งการแสดง ซึ่งเราจะพูดเรื่องนี้กันต่อไป
ไม่มีอะไรดีไปกว่า ทักษะพื้นฐานทางการแสดงของคุณ
เขาเปรียบเทียบระหว่าง เทคนิค กับ พื้นฐานการแสดงว่า ทักษะพื้นฐานทางการแสดง เปรียบได้กับเสื้อผ้า ส่วนเทคนิคการแสดงต่างๆ เปรียบเหมือนเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์เหล่านั้นจะราคาแพง หรือ สวยงามเพียงไร มันก็คงดูแปลก ที่เราจะถืออุปกรณ์เหล่านั้น โดยไม่สวมเสื้อผ้าแม้แต่ชิ้นเดียว (นอกจากโป๊แล้ว ยังล่อแหลมอย่างมาก)
การแสดงมายากล ก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีทักษะพื้นฐาน หรือ ศิลปะการแสดงที่แน่นพอ ต่อให้มีอุปกรณ์ดีอย่างไร การแสดงนั้นก็ไร้ความหมาย มันเป็นได้เพียงแค่การสาธิตอุปกรณ์ ดังนั้น จงใส่เสื้อผ้าทุกครั้งที่แสดง (ข้อนี้ลืมไม่ได้เด็ดขาด)
คุณจะทำอย่างไร เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในขณะแสดง
จริงอยู่ที่ นักมายากล จะได้รับการบอกกล่าวถ่ายทอดกันมาว่า ให้ทำหน้าเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะผู้ชมไม่รู้หรอกว่าเรากำลังจะทำอะไร แต่หากคิดในมุมกลับ ผู้ชมเสียเวลา เสียเงินซื้อตั๋วเข้ามาดูการแสดง เพื่อดูเราแสดงผิดพลาดอย่างนั้นหรือ ดังนั้น การแสดงของเราต้องผิดพลาดน้อยที่สุด หรือต้องไม่มีเลย (แม้ว่าผู้ชมจะเข้ามาดูฟรี เราก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้)
ยูโฮจิน ยังพูดถึงเรื่องอื่นๆ เมื่อครั้งเปิด Workshop ที่ประเทศไต้หวัน ผู้เขียนขอเสริมตรงนี้เล็กน้อยว่า คำว่า Workshop ต่างกับ การเลคเชอร์ การเลคเชอร์ คือ การที่นักมายากลมาอธิบาย มาสอน ถึงเทคนิคต่างๆ ที่เขาใช้ในการแสดงของเขา แต่ Workshop คือ การที่นักมายากลมาสอนให้กับผู้เข้าร่วมอย่างละเอียด สอนและให้ผู้เข้าร่วมทำไปพร้อมๆ กัน ชนิดที่แทบจะจับมือการสอนเลย และใครมีปัญหาติดขัดตรงไหนก็แก้ไขกันเดี๋ยวนั้น
ยูโฮจิน บรรยายเรื่องต่างๆ ในครั้งนั้น ออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การเริ่มต้น
2. กลเม็ด
3. ข้อสำคัญ
เรามาดูกันว่าแต่ละส่วนเป็นอย่างไร
1. การเริ่มต้น
ซึ่งเขายังแบ่งออกเป็นอีก 3 ข้อย่อย คือ
1.1. การแสดงออก
1.2. เพลง
1.3. ลีลาท่าทาง
เรามาพูดถึงเรื่องแรกกัน
1.1. การแสดงออก
ในที่นี้เราต้องพูดถึงสิ่งสำคัญอันดับแรกเลย นั่นคือ ต้องหาตัวตนที่แท้จริงของเราให้เจอ ต้องหาออกมาให้ได้ ถ้าหาสิ่งสำคัญนี้ไม่เจอ เราจะไม่รู้เลยว่า อะไรเหมาะกับเรา และเราเหมาะกับอะไร สิ่งที่เหมาะ กับ สิ่งที่ชอบ นั้นต่างกัน หลายคนเลือกแสดงในสิ่งที่ชอบ แต่ไม่เหมาะกับตนเอง เราต้องเข้าใจไว้ว่า เราแสดงให้ผู้ชมดู ไม่ใช่ให้ตัวเองดู ดังนั้นชุดการแสดงของเรา ต้องเป็นชุดที่เราชอบ และ เหมาะกับตัวเอง
เมื่อเราได้ชุดการแสดงที่เราชอบ และเหมาะสม เราจะแสดงด้วยความสนุก แสดงด้วยอารมณ์ ที่ออกมาจากภายในจิตวิญญาณของตัวเราเอง เราจะรู้ว่าสิ่งใดหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวเรานั้น อาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์ช่วยดูให้ เหมือนผู้กำกับภาพยนตร์ที่เก่งๆ เขาจะดูออกว่าดารานักแสดงคนไหนเหมาะกับบทบาทอะไรในภาพยนตร์ ตรงนี้คือก้าวสำคัญของเรา บางคนหลงทางตลอดชีวิต เพราะผิดตรงก้าวแรก
เรามาแอบดู ยูโฮจิน ในช่วงที่เขายังหาตัวเองไม่เจอ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เขาก็บรรลุถึง ตัวตน
1.2. เพลง
เพลงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ ในการแสดงของเรา เพลงสามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดของเรา อารมณ์ของเราไปสู่ผู้ชม การเลือกเพลง ให้เหมาะกับการแสดงของเรา ยากพอๆ กับการเลือกการแสดงให้เหมาะกับเรา เพลงที่เราชอบอาจไม่เหมาะ เพลงที่เหมาะอาจไม่ใช่เพลงที่ชอบ
การฟังเพลง ต้องฟังด้วยหัวใจ ไม่ใช่ฟังด้วยหู
• ต้องหัดฟังเพลงให้มากๆ ฟังทุกๆ แนว ทั้งคลาสสิค ป๊อป แจ๊ส ลูกทุ่ง ลูกกรุง ทั้งเพลง ที่มีเสียงร้อง หรือ เพลงบรรเลง อย่าฟังแต่ประเภทที่ตัวเองชอบ
• นอกจากฟังเพลงมากๆ หลายๆ แนวแล้ว ยังต้องฟังเพลงจากเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภท เครื่องดนตรีแต่ละประเภทต่างมีบุคลิกเฉพาะตัว ให้อารมณ์ต่างกัน หากเราเลือกเพลงที่เป็นการบรรเลงโดยเครื่องดนตรีน้อยชิ้น เรายิ่งต้องทำความรู้จักเครื่องดนตรีประเภทนั้นๆ FISM Act ของ ยูโฮจิน ใช้เปียโนบรรเลง
กว่าที่ ยูโฮจิน จะเลือกได้เพลงที่ใช้ประกอบในชุดที่เขาเข้าประกวด FISM เขาเล่าว่า เขาฟังเพลงทุกวัน บางวันใช้เวลาเกือบ 15 ชั่วโมง และใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงจะได้เพลงที่เหมาะกับชุดการแสดงของเขา
• หลายคนสงสัยว่าควรเลือกเพลงก่อน หรือ ออกแบบการแสดงของก่อน ยูโฮจิน บอกว่าการเลือกเพลงให้เหมาะกับการแสดง ยากกว่าการแสดงให้เหมาะกับเพลง เพราะเราสามารถปรับการแสดงได้ง่ายกว่า เว้นแต่ว่าเพลงนั้นเราสามารถประพันธ์หรือบรรเลงเองได้
• ขณะที่เราแสดงบนเวที เราหายใจด้วยมวลอากาศที่ร่วมกับผู้ชม เสียงดนตรีก็เปรียบเสมือนมวลอากาศ ที่ทำหน้าที่ สื่อสารความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ไปยังผู้ชม ดนตรีเป็นภาษาการสื่อสารชนิดหนึ่ง ทุกครั้งที่เราใช้หัวใจฟังดนตรี เราจะได้ยินความรู้สึกที่ดนตรีต้องการสื่อให้เรา หลับตา แล้วใช้หัวใจพูดคุยกับดนตรี
มาถึงตรงนี้ อยากให้พวกเราได้ดู คลิปการแสดงอีกคลิปหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงสดๆ ร่วมกับการบรรเพลงแบบสดๆ เช่นกัน ทั้งภาพและเสียงให้อารมณ์ที่เกินจะบรรยายจริงๆ และจะทำให้เราเข้าสิ่งเขาพูดถึงเพลง เรามาชมพร้อมๆ กัน
1.3. ลีลาท่าทาง
ภาษากาย คือภาษาชนิดหนึ่ง เป็นภาษาที่ไม่ใช้เสียง ทุกๆ ย่างก้าว ทุกๆ ความเคลื่อนไหว สายตา รอยยิ้ม สีหน้า ล้วนแต่คือภาษาที่เราใช้ถ่ายทอดไปยังผู้ชม เป็นการสื่อกับผู้ชมว่า เราคือใคร เรามาทำไม เราทำอะไร ทำเพื่ออะไร เรารู้สึกอย่างไร และกำลังแสดงอะไร
ยูโฮจิน แนะว่า ให้ดูหนังเยอะๆ แล้วศึกษาการแสดงของตัวละครในบทบาทต่างๆ ดูสีหน้า ท่าทาง และวิธีสื่อสารของเขา อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นครูที่ดีมาก คือ ละครใบ้ และปรมาจารย์ของเรื่องนี้คือ ชาร์ลี แชปลิน
เขายังยกตัวอย่างโดยให้กลับไปดูการแสดงของเขา ตอนที่เขาเนรมิตไพ่หลากสีออกจากมือ แขนทั้งสองข้างของเขาค่อยๆ ยกสูงขึ้นทีละนิด สื่อให้เห็นถึงอารมณ์ที่ค่อยๆ พุ่งสูงขึ้น และหยุดลงตรงใบหน้า เพื่อบอกผู้ชมว่า มองฉันสิ ฉันกำลังสร้างความมหัศจรรย์
ขณะที่ ยูโฮจิน ออกทัวร์ไปประเทศต่างๆ กับคณะ อิลูชั่นนิสท์ มีนักมายากลรุ่นอาจารย์ท่านหนึ่งให้คำแนะนำเขาว่า ทุกครั้งที่เนรมิตไพ่หลากสีที่คลี่เป็นพัดในมือทั้งสองข้าง แทนที่จะอยู่นิ่งกับที่ ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ภาพนี้จะสื่อถึงพลังอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้ชมได้รับรู้ เมื่อยูโฮจินนำไปใช้ปรากฏว่าเขาได้รับเสียงปรบมือมากกว่าการหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทุกครั้งที่เนรมิตไพ่คลี่หลากสี เขาจะก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ทิ้งไพ่ แล้วเนรมิต พร้อมกับก้าวไปอีกนึ่งก้าว ทุกๆ ก้าวที่ก้าวไปข้างหน้า ผู้ชมจะรับรู้ได้ว่าเราได้ใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น เราได้ก้าวเข้าไปในหัวใจของเขามากขึ้น
หากเราอยากจะย้อนกลับไปชม ให้ชมได้จากที่นี่อีกครั้งหนึ่ง
ปรมาจารย์อีกท่านนึ่งที่ ยูโฮจิน แนะนำให้ดูการแสดงของเขา คือ แลนซ์ เบอร์ตัน ในชุด FISM Act เขาผู้นี้แสดงได้อย่างมีเสน่ห์มากๆ ทั้งท่วงท่าลีลา การใช้สายตา การให้จังหวะ ช้า-เร็ว หรือแม้แต่การหยุดจังหวะเพื่อให้ผู้ชมปรบมือ ทุกอย่าง แลนซ์ เบอร์ตัน สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน และมีพลัง เป็นการแสดงที่ออกมาจากจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
2. กลเม็ด
คราวนี้เรามาพูดกันถึงกลเม็ดเคล็ดลับส่วนตัวของ ยูโฮจิน ซึ่งเขาค้นพบมาจากการที่เขาฝึกซ้อม เชื่อว่าเคล็ดลับนี้เราสามารถนำใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน นั่นคือ
2.1. การใช้รูปภาพ
2.2. การพูดออกเสียง
2.3. การจับตาดูตัวเอง
เรามาพูดถึงเรื่องแรกกัน
2.1. การใช้รูปภาพ
ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลกถ้ามีคนมาบอกเราว่า เวลาฝึกซ้อมให้เอารูปภาพ (รูปคน) หลายๆ รูปมาติดไว้ข้างฝา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการที่นักมวยเอารูปที่ตนเองเกลียดมาติดไว้กับกระสอบทราบ เชื่อไหมครับว่า นักมายากลหลายๆ ท่านฝึกซ้อมอย่างหนัก ทั้งเทคนิค ท่าทาง ทั้งขาทั้งมือ การเดิน การก้าว ให้เข้ากับเสียงเพลง แต่ไม่ได้ฝึกการใช้สายตา และสำหรับท่านที่ยังไม่เคยขึ้นแสดงบนเวทีมาตรฐานใหญ่ๆ คงไม่รู้ว่า ทันทีที่ม่านเปิดออก เราจะกลายเป็นคนตาบอดทันที เพราะแสงไฟนับสิบดวงจะสาดส่องมาที่ตัวเรา ยังไม่นับฟอลโล่ไล้ท์ที่เน้นเป็นวงกลมรอบตัวเรา เราจะไม่เห็นผู้ชมเลย หลายคนตกใจ หยีตา หรือ หลับตา เพราะไม่เคยซ้อมในสภาพแสงไฟแบบนี้ ไม่รู้ว่าต้องใช้สายตาอย่างไร ไม่รู้ว่าต้องมองเมื่อไหร่ มองอะไร ซ้าย หรือ ขวา บน หรือ ล่าง เลยทำให้การแสดงสะดุดไม่ราบรื่น ขาดเสน่ห์
ยูโฮจิน แก้ปัญหานี้ โดยนำเทคนิคของนักแสดงละครเวทีมาใช้ นั่นคือ ติดรูปที่เป็นรูปคน (รูปสัตว์ รูปวิว ไม่ได้จ้า) มีขนาดใหญ่พอสมควร ติดไว้บนกำแพง ซ้าย กลาง ขวา ในระดับต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย เหมือนกับว่าเรากำลังอยู่บนเวทีแล้วมองลงมาหาผู้ชม ระยะจากรูปด้านซ้าย ถึง ด้านขวา ควรจะห่างประมาณสามเมตร (ห้องซ้อมควรกว้างพอสมควร)
ทุกครั้งที่ซ้อม เราต้องกำหนดให้แม่นว่า แสดงถึงตรงไหน ควรมองซ้าย หรือ ขวา หรือ มองตรง ซ้อมทุกครั้งให้มองไปยังตำแหน่งที่เรากำหนดทุกครั้ง ซ้อมใช้สายตามองจนขึ้นใจ ซ้อมจนไม่ต้องนึก ให้ออกมาเองเหมือนเป็นสัญชาติญาณ เมื่อขึ้นเวที ไฟส่องตา ก็จะไม่เป็นปัญหาของเรา เพราะซ้อมมาแล้วเป็นอย่างดี
ถึงตรงนี้แล้ว ขอใช้พื้นที่พูดถึงเรื่องความแตกต่างระหว่าง การฝึก กับ การซ้อม ซึ่งเคยเขียนบทความให้อ่านกันไปแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่าน จะได้ทำความเข้าใจกันตรงนี้
การฝึก คือการทำในสิ่งที่เรายังไม่เป็น ให้ทำเป็น เช่น ฝึกหนีบไพ่ในมือ ฝึกซ่อนเหรียญในท่าต่างๆ ฝึกกลิ้งลูกบอลด้วยปลายนิ้ว แรกๆ ไพ่หล่น ไพ่ร่วง คีบบอลไม่อยู่ แต่เมื่อฝึกบ่อยๆ ฝึก ฝึก ฝึก ความผิดพลาดก็จะยิ่งน้อยลง ฝึกจนให้เป็น ฝึกจนเข้ามือ ฝึกจนไม่ต้องคิด แบบที่เรียกกันว่า มือมันไปของมันเอง
ผู้เขียนชอบคำโบราณที่เรียกว่า ฝึกฝน นั่นคือ ฝึกให้เก่ง แล้วค่อยๆ ฝน ให้ชำนาญ ให้ลื่นมือ และเนียนตามากขึ้น
การซ้อม คือ การนำเอาสิ่งต่างๆ ที่เราฝึกจนเก่งเหล่านั้นมาเรียงร้อย เรียงลำดับก่อนหลัง ที่เราเรียกกันว่า "รูทีน" (Routine - ผู้เขียนยังหาคำแปลเป็นภาษาไทย ที่มีความหมายตรงยังไม่ได้) จนเป็นชุดการแสดง แล้วซ้อมตามที่เราเรียงลำดับนั้นให้ชำนาญ โดยใส่เพลง ใส่อารมณ์ เข้าไปตามที่เขียนไว้ในตอนต้น
ทุกครั้งที่ซ้อม จำเป็นมากที่จะต้องใช้อุปกรณ์ เสื้อผ้า รองเท้า โต๊ะ สัตว์ หรือ นกตัวเดียวกันที่จะใช้แสดงจริง หลายคนเวลาซ้อมไม่ได้สวมรองเท้า พอแสดงจริงปรากฏว่ารองเท้ากัดขา เพราะเป็นรองเท้าคู่ใหม่ที่ยังไม่เคยได้ใส่มาก่อนเลย
การฝึก ไม่จำเป็นต้องใช้กระจก แต่การซ้อมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้กระจก ยิ่งเป็นการซ้อมมายากลระยะใกล้ จำเป็นต้องใช้กระจกถึงสามบาน บานตรงกลางวางตรง บานซ้าย ขวา วางทำมุมตามองศาแทนซ้ายตาผู้ชม แล้วดูว่ามีมุมใดที่เป็นจุดอ่อน จุดบอด จุดเผยของเรา

ถ้าเป็นการซ้อมของมายากลเวที อาจใช้บานเดียวได้ และควรเป็นบานใหญ่ที่สามารถเห็นทั้งตัว ตั้งแต่หัวจรดเท้า และใหญ่พอที่เราจะสามารถเดินไปมา ซ้าย ขวา ได้ ถ้าเราซ้อมจากกระจกบานเล็ก เราจะเกิดอาการ "ขาตาย" คือแสดงอยู่กับที่ เพราะไม่เคยซ้อมเดิน เว้นแต่เราจะออกแบบการแสดงของเราให้ใช้พื้นที่น้อยๆ เดินไม่กี่ก้าว แบบ ยูโฮจิน (ซึ่งยากมาก)
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ "โรคติดกระจก" เวลาไม่มีกระจก ซ้อมไม่ได้ ซ้อมไม่เป็น ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้น ในการซ้อมระยะแรกๆ อาจต้องพึ่งพากระจก เพื่อตรวจสอบมุมอับ มุมบอด จากนั้นให้ซ้อมโดยไม่มีกระจก แต่ให้ซ้อมกับรูปภาพบนกำแพงตามวิธีของ ยูโฮจิน
ทุกครั้งที่ซ้อม ให้จินตนาการว่า เรากำลังแสดงอยู่บนเวที มีผู้ชมกำลังดูเราอยู่ ซ้อมจนให้ทุกอย่างมันออกมาเองโดยไม่ต้องนึกว่าต้องทำอะไรต่อ ซ้อมจนให้มันกลายเป็นสัญชาติญาณที่สองของเรา
การซ้อมอีกวิธีหนึ่ง เป็นวีธีที่เราสามารถซ้อมได้ทุกสถานที่ นั่นคือ "การซ้อมใบ้" วิธีนี้ผู้เขียนได้มาจากเมื่อครั้งเดินทางไปกับ ฟิลิป เพื่อส่งเขาเข้าประกวด FISM เมื่อปี พ.ศ. 2531 ที่สวิสเซอร์แลนด์ (เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าประกวด FISM โลก)
เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ (ฟิลิป)
หนังสือ FISM เมื่อปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)
ในห้องแต่งตัวหลังเวทีประกวด ผู้เขียนเห็นนักแสดงหลายคนยืนตามมุมห้อง เสียบสายหูฟังเข้ากับเครื่องเล่นเพลง (ในสมัยนั้นคือ ซาวน์อะเบ้าท์) หลับตาขยับมือ ขยับขา ซ้อมตามเสียงเพลงที่เขาได้ยิน ผู้เขียนยืนดูอยู่ไกลๆ ยังจินตนาการออกเลยว่า เขากำลังแสดงชุดอะไร เลยจำเทคนิคนี้มาสอนน้องๆ รุ่นต่อๆ มา
การซ้อมใบ้นี้ เราสามารถซ้อมได้ทุกสถานที่ บนรถโดยสาร รถส่วนตัว ขณะนั่งรอเพื่อน หรือ บนเตียงก่อนนอน สามารถซ้อมโดยไม่ต้องฟังเพลง แต่ซ้อมจากจินตนาการของเราเอง เหมือนที่ คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก เคยกล่าวไว้ว่า เขาซ้อมจนกระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำ หรือ นั่งกินข้าว ยังได้ยินเสียงดนตรี เวลาหลับตานอนก็ยังมองเห็นโน้ตดนตรี
กลับมาเรื่องการซ้อมโดยมองภาพบนกำแพง ยูโฮจินแนะว่า เวลามองภาพที่กำแพงที่เราสมมติเป็นผู้ชม ให้นึกในใจไปด้วยว่าเรากำลังคุยกับเขาเหล่านั้น เช่น ฉันกำลังทำให้ไพ่เปลี่ยนสีนะ ดูสิมันลอยได้ ฉันสามารถเนรมิตสิ่งของจากมือเปล่าได้นะ สิ่งที่เรานึกในใจมันจะถูกสื่อสารออกมาด้วยท่าทาง และ สายตา ซึ่งผู้ชมสามารถจะรับรู้ได้
2.2. การพูดออกเสียง
หัวข้อที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องการนึกในใจ พูดคุยในใจ คราวนี้เรามาซ้อมโดยการ พูดออกเสียงขณะซ้อมกันบ้าง ยูโฮจิน แนะว่าขณะที่เราซ้อมหากเราพูดไปด้วย พูดในสิ่งที่เราต้องการสื่อกับผู้ชม จิตใต้สำนึกของเราจะซึมซับเนื้อหาเหล่านั้นโดยเราไม่รู้ตัว และมันจะแสดงออกผ่านท่าทาง สีหน้า ดวงตา อย่างอัตโนมัติ เขายังบอกอีกว่าเวลาซ้อมโดยพูดออกเสียงนี้ ให้ซ้อมแบบช้าๆ ค่อยๆ พิจารณาว่ามีการแสดงตอนไหนที่ยังขาด ไม่ชัดเจน ต้องเพิ่ม หรือ ต้องลด ต้องเน้น อย่างไร ในตอนแรกเขาใช้เวลาเกือบ 20 นาทีในการซ้อมแบบพูดออกเสียง และใช้เวลาอีกร่วมเดือนกว่าจะตัดทอน จนเหลือ 7 นาที 30 วินาที ในชุด FISM Act ของเขา
ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ในขณะซ้อมแบบพูดออกเสียง เราควรบอกคนที่บ้าน หรือคนใกล้ตัว ว่าเรากำลังทำอะไร มิฉะนั้น เขาอาจเข้าใจเราผิดได้
ภาพจาก: lessonbucket.com
2.3. การจับตาดูตัวเอง
วิธีนี้เป็นวิธีที่นักมายากลทั่วโลกรู้จักกันดี และใช้กันมานานคือ การถ่ายวีดีโอตัวเองในขณะกำลังซ้อม ในสมัยก่อนเราต้องอาศัยเครื่องถ่ายวีดีโอซึ่งมีราคาแพง และมีขนาดใหญ่ไม่สะดวก แต่ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือสามารถแก้ปัญหานี้ได้ อาจให้เพื่อนช่วยถ่าย หรือ หนีบกับขาตั้งกล้องถ่ายรูป เมื่อบันทึกการซ้อมแล้ว ให้เปิดดูเพื่อหาข้อผิดพลาด การบันทึกนี้ควรบันทึกอย่างน้อยสามมุม คือ บันทึกจากด้านหน้าตรงๆ จากด้านซ้าย และ ด้านขวา หากเป็นไปได้ควรใช้มือถือสามเครื่องบันทึกพร้อมกัน (จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหยิบยืมผู้อื่น ไม่แนะนำให้ซื้อเอง) แล้วเปิดดูว่ามีด้านไหน มุมไหน ที่เป็นจุดอ่อนของเรา ดูหลายๆ ครั้ง แต่ละครั้งดูต่างๆ กัน ครั้งแรกอาจจะดูภาพรวม ต่อมาดูลีลาท่าทาง ดูอารมณ์ การใช้สายตา ฯลฯ และถ้าจะให้ดี ควรให้คนอื่นที่มีประสบการณ์มาช่วยดูด้วย เพราะมนุษย์เรามักเข้าข้างตัวเอง ให้คนอื่นหลายๆ คนมาช่วยดู ฟังคำวิจารณ์ของแต่ละคนแล้วนำมาปรับให้ดีขึ้น นำมาปรุงให้การแสดงของเรามีรสชาติที่สนุกขึ้น อร่อยขึ้น มหัศจรรย์มากขึ้น
การบันทึกขณะซ้อมนี้ ไม่ใช่บันทึกแค่ครั้งเดียว ควรบันทึกหลายๆ ครั้ง บันทึกขณะซ้อมโดยมีเพลง และบันทึกโดยไม่มีเพลง เพื่อดูว่าเราสามารถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีไหม หากเป็นไปได้ควรบันทึกทุกครั้งที่ซ้อม บันทึกแล้วอย่าลบทิ้ง ให้นำมาทบทวนดูว่า การซ้อมแต่ละครั้งของเราพัฒนาขึ้นหรือไม่อย่างไร
แต่ ยูโฮจิน เขาทำมากกว่านั้น นอกจากเขาจะบันทึกภาพตัวเองขณะซ้อม เขายังให้เพื่อนช่วยบันทึกภาพผู้ชมขณะที่กำลังดูการแสดงของเขา เพื่อดูว่าสิ่งที่เขาคิด กับ ปฏิกิริยาของผู้ชมตรงกันหรือไม่ เขาอาจคิดว่าท่าทางแบบนี้ ใช้สายตาแบบนี้ จะโดนใจผู้ชม แต่เวลาแสดงจริง ผู้ชมอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้นก็ได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาและนำมาปรับเปลี่ยนให้ตรงใจผู้ชม เหมือนที่เคยพุดไว้ตอนต้นว่า เราแสดงให้ผู้ชมดู ไม่ใช่ให้ตัวเองดู
นับได้ว่าเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ยูโฮจิน จริงๆ ขอแสดงความนับถือ ณ ที่ตรงนี้ และขอบอกว่า "นายแน่มาก"
3. ข้อสำคัญ
เราได้ใช้เวลาคุยกันถึงเรื่องการซ้อมมานานพอสมควร จากนี้ไปเราจะมาเข้าถึงเรื่องสำคัญสามประการ คือ
3.1. เนื้อหาเรื่องราว
3.2. อารมณ์
3.3. ความเชื่อ
ทั้งสามประการนี้ล้วนแต่มีความสำคัญไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน
3.1. เนื้อหาเรื่องราว
ยูโฮจิน เล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวที่เขาไปเลคเชอร์ที่ งานประจำปีของสมาคมมายากลไต้หวัน มีผู้ถามเขาว่า ในชุดการแสดง FISM Act ของเขานั้น มีเนื้อหาเรื่องราวอย่างไร แทนที่เขาจะตอบ เขากลับเชิญผู้ชมขึ้นไปบนเวทีสามท่าน แล้วถามแต่ละท่านว่า "มีความเข้าใจถึง การแสดง FISM Act ของเขานั้นอย่างไร ..?" ปรากฏว่าทั้งสามท่านต่างตอบไปคนละอย่าง มีทั้งบอกว่า เป็นเรื่องราวของพ่อมดที่มาจากอนาคต หรือ เป็นเรื่องของผู้มีเวทมนต์เนรมิตสิ่งของต่างๆ และ เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดมาจากความฝัน
ยูโฮจิน บอกว่าทั้งสามท่านตอบถูกหมด ไม่มีใครผิด เพราะการแสดง FISM Act ของเขานั้น เป็นการแสดงแบบ "ปลายเปิด" นั่นคือ เปิดโอกาสให้ผู้ชมเป็นจินตนาการเอาเองว่าเขาต้องการสื่ออะไร สิบคนดู สิบคนตีความ อาจไม่มีใครเลยที่คิดเหมือนกัน หรือแม้แต่คนดูคนเดิม เมื่อดูครั้งสอง ครั้งสาม ก็อาจจะตีความไม่เหมือนกัน ตรงนี้แหละคือหัวใจของศิลปะ ความงามนั้นขึ้นอยู่กับผู้เสพ ขึ้นอยู่กับ เพศ วัย เชื้อชาติ ประสบการณ์ ของปัจเจกบุคล ผู้สร้างงานเป็นเพียงแค่ผู้ถ่ายทอดเท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ยูโฮจิน สร้างงาน FISM Act ขึ้นมาแบบไร้เนื้อเรื่อง เขามีเนื้อเรื่องในใจตั้งแต่ก่อนที่จะสร้างงาน เพียงแต่เนื้อเรื่องของเขาไม่จำเป็นต้องตรงกับจินตนาการของผู้ชม การแสดงของเขาเป็นงานศิลปะแนว นามธรรม ต้องใช้หัวใจสัมผัส ไม่ใช่ใช้สมองคิดหาเหตุผล
ผู้เขียนได้แอบถาม ยูจิ ยาซูดะ อาจารย์ของเขา เมื่อครั้งที่มาเมืองไทย เขากระซิบบอกว่า ยูโฮจิน สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่มีต่อสาวงาม แต่อกหัก จิตใจเจ็บปวด เตลิดล่องลอย สุดท้ายจึงเรียกสติของตนเองกับมาได้ (โดยใช้สัญลักษณ์ เป็นการเนรมิตผ้าพันคอกลับมา)
แล้วพวกเราดู FISM Act ของเขาแล้วมีจิตนาการกันอย่างไร หรือจะกลับไปดูกันอีกรอบก็น่าจะดีนะ
3.2. อารมณ์
ความสนุก เศร้า เฮฮา เหงาหงอย คือสิ่งที่เราเรียกว่า อารมณ์ อารมณ์คือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด อารมณ์คือสิ่งสุดท้ายที่จะติดอยู่ในจิตใจของผู้ชม เมื่อเขาลุกเดินออกจากห้องเวที
ยูโฮจิน กล่าวว่าอารมณ์ของตัวเรา สามารถควบคุมได้ ฝึกฝนได้ แต่เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของผู้ชมได้สิ่งที่เราต้องการคือ มอบการแสดงที่ดีที่สุดให้กับผู้ชม ให้เขารับรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เราต้องการถ่ายทอดออกไป ดังนั้น เราจึงต้องซื่อสัตย์ต่อการแสดงของเรา เราต้องมีวินัย ฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้ผู้ชมได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากเรา
ยูโฮจิน เชื่อว่าคุณค่าที่มีค่าที่สุด คือคุณค่าที่มอบให้กับผู้อื่น พูดถึงความเชื่อแล้ว เราไปหัวข้อต่อไป
3.3. ความเชื่อ
โรแบร์ ฮูแดงส์ นักมายากลในอดีต กล่าวไว้ว่า นักมายากล คือ นักแสดงที่กำลังรับบทบาทเป็น นักมายากล ทุกครั้งที่เราขึ้นเวทีแสดง เราต้องเชื่อว่าเราคือ ผู้วิเศษ ผู้ที่สามารถเนรมิตอะไรก็ได้ ด้วยเวทมนต์ ด้วยคาถา ของเรา เหมือนกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สามารถใช้ไม้กายสิทธิ์ เนรมิตเรื่องราวต่างๆ
ความเชื่อนี้ ถ้าเป็นความเชื่อที่กลั่นออกมาจากภายในจิตใจของเรา จะเป็นความเชื่อที่บริสุทธิ์ มีพลังแรงกล้า ซึ่งจะถ่ายทอดผ่านการแสดงของเราออกมา ดังนั้น จงเชื่อมั่นในพลังแห่งความเชื่อ
ยูโฮจิน กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะโค้งคำนับ โบกมือ จนม่านปิดลง พร้อมกับแสงไฟ
ตัวผู้เขียนไม่ขอสรุป หรือกล่าวทิ้งท้าย เพราะคลิปนี้สามารถบรรยายเรื่องราวทั้งหมดข้างต้นได้ครบถ้วนแล้ว มาชมกันอีกครั้ง
โดย ชาลี ประจงกิจกุล
ชมรมวิทยากล สยาม เมจิก