ปูมตำนานไพ่ ไพ่กับเมืองไทย

 


ด้วยความที่ผู้เขียนเมื่อตอนเด็กอาศัยอยู่ละแวกเยาวราช ย่านคนจีน ได้พบเห็นการเล่นไพ่ (ที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฏหมาย) ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไป เช่น ด้านหลังซอยเท็กซัส ซอยม้าเก็ง ตึกเจ็ดชั้น หลังเทียนกัวเทียน ได้เห็นการเล่น ไพ่ตอง ไพ่ผ่อง ไพ่นกกระจอก ไพ่เผ (คล้ายโป๊กเกอร์) แม้แต่ในบ้านของผู้เขียนเองที่เหล่าบรรดาญาติ ๆ จะมา(แอบ)เล่นกันบ่อย ๆ


สมัยนั้นไพ่ที่คุ้นตาเป็นอย่างดีและหาได้ง่าย คือ ไพ่อะลาดิน (Aladdin) เป็นไพ่กระดาษเนื้อหนา ขอบทอง ผลิตในประเทศอเมริกา สมัยนั้นมี ร้านเต็กกี่ เป็นตัวแทนจำหน่าย ตั้งอยู่ที่สำเพ็ง ใกล้ปากซอย ถนนราชวงศ์ ตรงข้ามซอยคิคูยา ลักษณะเด่นของไพ่อะลาดิน คือ ไพ่โจ๊กเกอร์ที่มีรูปกระต่ายอยู่ในไข่


ไพ่ของร้านเต๊กกี่เป็นไพ่ที่นำเข้าอย่างถูกกฏหมาย ทุกใบจะมี รอยตรายางสีแดงของกรมสรรพสามิต ตีตราประทับไว้ใต้เลขไพ่ของทุกใบว่าชำระภาษีแล้ว แต่ตรานั้นเล็กมากจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร มารู้ภายหลังว่าเป็นรูป นกวายุภักษ์ สัญญลักษณ์ของ กรมสรรพสามิต


      


จากการที่ได้คุ้นชินกับไพ่ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนสงสัยอยากรู้ว่า "ไพ่" มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนคิด มีวัตถุประสงค์อะไร ทำไมเราสามารถเอามาเล่นพนัน เล่นเกม หรือหมอดูเอามาทำนายโชคชะตา แต่ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ ไม่รู้ว่าต้องไปหาคำตอบที่ไหน เกินปัญญาของเด็ก ป.2 จะสืบค้นได้


ทิ้งช่วงไประยะหนึ่งจึงได้เสาะหาข้อมูลแล้วมาปะติดปะต่อจากข้อมูลตามห้องสมุดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่น้อยนิด แต่ก็ไม่เพียงพอให้บรรเทาความสงสัยได้ จึงหยุดการค้นหาไปพักใหญ่ มาสานต่ออีกครั้งเมื่อได้พบตำรามายากลของต่างประเทศ ที่ซื้อมาจากร้านหนังสือ แถวเวิ้งนาครเกษมและหลังวังบูรพา เป็นหนังสือขนาดพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มบาง ๆ มีภาพประกอบ 4-5 ภาพ ที่ซื้อมาก็ไม่ใช่ว่าจะอ่านออก ต้องอาศัยการเปิดพจนานุกรม จำได้ว่าต้องเปิดคำแปลแม้แต่คำว่า "The" กว่าจะได้หนึ่งประโยคทำเอาเกือบท้อไปหลายครั้ง


ยุคปัจจุบันนับว่าสะดวกมากขึ้น ที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นข้อมูลที่สามารถอ้างอิงย้อนไปได้หลายร้อยปี แต่สิ่งที่ยังยากอยู่คือ เรื่องราวของไพ่ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย ซึ่งไม่ค่อยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ ต้องเชื่อมต่อเรื่องราวแต่ละท่อนจากหนังสือหลาย ๆ เล่ม ซึ่งบางเล่มข้อมูลก็ขัดแย้งกันเองในเรื่องของ พ.ศ. และชื่อบุคคล


ขอเชิญท่านได้เข้ามาสัมผัสกับเรื่องราวของไพ่ในบริบทต่าง ๆ ดังนี้

ไพ่ กับ ความเป็นมา

กระดาษแผ่นแรกของโลก ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวจีน เมื่อ ศตวรรษที่ 8 จากการที่มนุษย์สามารถบันทึกความทรงจำลงบนกระดาษ ทำให้ข้อมูลเรื่องราวและความรู้ต่าง ๆ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว แต่เดิมต้องบันทึกไว้บนแผ่นหิน แผ่นไม้ กระดองเต่า เมื่อเป็นกระดาษที่มีขนาดเบา พกพาได้ง่าย ความรู้จึงแพร่หลายกระจายออกไปจากประเทศจีน สู่ประเทศต่าง ๆ


และยังค้นพบว่าประเทศจีนเริ่มเล่นไพ่กันใน ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เมื่อมีเจ้าหญิงในราชวงศ์ ใช้ใบไม้มาเล่นเป็นเกมในยามว่าง กวีนามว่า ซู อี ได้กล่าวไว้ว่า เจ้าหญิงถังชาง พระธิดาในจักรพรรดิยี่สง ได้เล่นเกมใบไม้นี้กับสมาชิกในตระกูลเว่ย เมื่อมีการค้นพบวิธีทำกระดาษ จึงเปลี่ยนจากใบไม้มาเป็นไพ่กระดาษ


ไพ่กระดาษชุดแรกของโลก ได้ถือกำเนิดขึ้นจากประเทศจีน เมื่อ ศตวรรษที่ 9 ซึ่งไพ่แต่ละใบมีหน้าตาแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง


 


จากการเดินทางค้าของจีนกับประเทศต่าง ๆ ไพ่ จึงได้ไปปรากฏยังประเทศอินเดีย ไปเป็นที่ชื่นชอบในราชสำนักอียิปต์ แล้วค่อยข้ามน้ำข้ามทะเลไปยุโรป โดยผ่านทางทหาร Mamelukes (ทหารปกป้องศาสนาอิสลาม) ของอียิปต์ เมื่อ ค.ศ. 1300  


บนเส้นทางการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ หน้าตาและจำนวนใบของไพ่ก็ถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามแต่ความนิยมของประเทศต่าง ๆ


สำหรับไพ่ป๊อกในปัจจุบัน ได้ต้นแบบมาจากราชสำนักฝรั่งเศสในราว ค.ศ. 1480 ออกแบบเป็นรูป คิงถือคฑา ควีนถือพัด



 

เดิมทีการนับแต้มไพ่ ไพ่ที่มีแต้มต่ำสุดคือไพ่ A (Ace) สูงสุดคือไพ่ K (King) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะผู้ที่มีอำนาจกำหนดความหมายของไพ่นี้คือ ผู้ที่มีศักดิ์อยู่ระดับสูงของราชสำนักสามารถกำหนดแม้กระทั่งจะให้ไพ่แต่ละใบมีความหมายอย่างไร จนกระทั่งมีการปฏิวัติในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 โดยชนชั้นกระฎุมพี พวกเขาจึงระบายความเก็บกดที่ถูกข่มเหง กดขี่มานานปี ด้วยการเปลี่ยนแปลงค่าต่ำสุดของไพ่ A (Ace) ที่เปรียบเสมือนกับพวกเขา ให้มีค่าสูงสุดเหนือไพ่ K (King)


ต่อมาชาวอังกฤษได้นำไพ่เข้าไปเผยแพร่ในอเมริกาในราว ค.ศ. 1860 ชาวอเมริกันนิยมชมชอบเล่นเกมไพ่ ที่แต่เดิมเรียกว่า Best Bower ต่อมาเปลี่ยนเป็น Jolly Joker และ Little Joker จนกลายมาเป็น Joker เมื่อ ค.ศ. 1880 ในตอนนั้นชาวอเมริกันคงปวดหัวกับการที่สับไพ่ทุกครั้ง ต้องคอยจัดไพ่ให้หันหัวไปในทางเดียวกันตลอดเวลา จึงได้ออกแบบหน้าไพ่ใหม่ ให้มีสองหัว บน-ล่าง ที่เหมือนกันไว้ในใบเดียวกัน และลบมุมไพ่ทั้งสี่มุมจากมุมแหลมเป็นมุมโค้งมนเมื่อ ค.ศ. 1870 ทำให้เวลาสับไพ่ไม่ทำให้มุมไพ่เสีย ต่อมาจึงเรียกเกมไพ่นั้นว่า Poker


จากนั้นมาไพ่ก็เดินทางเพ่นพ่านไปทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย


ไพ่ กับ เมืองไทย

สันนิฐานว่าไพ่เข้ามายังเมืองไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากการเดินเรือเข้ามาค้าขายในเมืองไทยบริเวณอ่าวไทยของชาวจีน ประมาณ พ.ศ. 1825 (จ.ศ. 644) ยุคนั้นมีการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่าง พ่อขุนรามคำแหง กับ พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ดังปรากฏในคำแปลพงศาวดารจีนตอนไทยเป็นไมตรีกับจีน (สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 ต.21 แฟ้ม 19) ตอนหนึ่งว่า


แผ่นดินจี่หงวน ปีที่ 19 หยิมโหงว ลักหง้วย (ตรงกับ ณ วันเดิอนแปด ปีมะเมีย จุลศักราช 644 ปี) พระเจ้าหงวนสี่โจ้วฮ่องเต้ รับสั่งให้ขุนนาง ก๊วนกุน บ้วนโหว ชื่อหอชื้อจี่ เป็นราชทูตไปเสียมก๊ก แผ่นดินจี่หงวน ปีที่ 26 กิทิวจับหง้วย (ตรงกับ ณ วันเดือนสิบสอง ปีฉลู จุลศักราช 651 ปี) หลอฮกก๊กอ๋องให้ราชทูตนำเครื่องบรรณาการมาถวาย ...


ไพ่ที่เข้ามาเล่นกันในช่วงนั้นเป็นไพ่ตอง และเล่นกันเฉพาะในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง การเล่นไพ่ตองจะมีมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานพอที่จะชี้ชัดได้ แต่ตามหลักฐานการเล่นการพนันต่าง ๆ ทั้ง หวย ถั่ว โป มีปรากฏในประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 5 ภาคที่ 17 (กรมศิลปากร, 2507, หน้า 398-400) ว่าเป็นของจีนคิดเล่นขึ้นก่อน



จากนั้น ไทยจึงได้ดัดแปลงไพ่ของจีนมาเป็นของไทย แต่คงมีลักษณะต่างจากไพ่ผ่องและไพ่ตอง




ดังพบคำอธิบายไพ่จีนและไพ่ไทยในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเล (2514. หน้า 451) ว่า

ไพ่จีน. เปนกดาดจีน ทำเปนใบรี ๆ พิมพ์ด้วยน้ำหมึกดำเปนลาย ๆ ตัดออกเปนใบเล่นกัน

ไพ่ไท. เปนงาช้าง เขาทำเป็นอัน ๆ ยาว สักสองนิ้วเสด, กว้างสักนิ้วหนึ่ง เจาะเปนรู ๆ แต้มดำบ้าง แดงบ้าง แล้วเล่นกันเอาเงิน

ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นไพ่ที่เอาไว้เล่นกันในหมู่ผู้ปกครองในราชสำนัก ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป เป็นแน่


ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายความหมายของ "ไพ่" เอาไว้ว่า

ไพ่ น. เครื่องเล่นการพนันอย่าวหนึ่ง ทำด้วยกระดาษ ค่อนข้างแข็ง หรือพลาสติกเป็นต้น เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบาง ๆ มีลวดลายและเครื่องหมายแสดงแต้มต่าง ๆ

คำว่า "ไพ่" นี้ เพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า "ไป๊" จีนกวางตุ้ง เรียกว่า "ผ่าย"

คำว่า "จั่ว" อ่านว่า "จา" ภาษาพูดคือ "จัว" หมายถึง เปิดไพ่ หรือ หยิบเอามา

คำว่า "ผ่อง" เป็นคำกิริยาของภาษาจีนแต้จิ๋ว อ่านว่า "ผ่ง" แปลว่า "พบ" หรือแปลง่าย ๆ ว่า "เจออีกตัวแล้ว" ซึ่งมักจะร้องออกเสียงดัง ๆ เมื่อจั่วไพ่ ได้ไพ่ที่เหมือนกันอีกหนึ่งตัว

คำว่า "ป๊อก" ย่อคำมาจากภาษาอังกฤษ คือ "Poker" เป็นเกมไพ่ที่นับคะแนนสูงสุดที่ 21 ภาษาจีนเรียกว่า "ไพ่ยี่อิด"


ปัจจุบันไพ่กระดาษของไทย ผูกขาดการผลิตโดย กรมสรรพสามิต



ไพ่ กับ มายากล

ไม่ปรากฏว่าเมื่อใด และ ชาติใดเป็นผู้คิดค้นมายากลไพ่ขึ้นเป็นคนแรกของโลก บันทึกเก่าแก่ที่สุด คือ หนังสือ Discouverie of Witchcraft เขียนโดย Reginald Scott เมื่อ ค.ศ. 1584



ในเอกสาร Girolomo Cardano’s De Sutilitate เขียนโดย Cardanus เมื่อ ค.ศ. 1550 ระบุว่า Jehan Dalmau ชาวสเปนคือนักมายากลไพ่คนแรกที่แสดงให้จักรพรรดิ คาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันได้ทอดพระเนตร

มายากลไพ่ชุดแรก ๆ นั้นเป็นแนว Find Me the Card คือ ให้ผู้ชมเลือกไพ่หนึ่งใบ โดยไม่ต้องให้ผู้แสดงเห็นหน้าไพ่ ใส่กลับเข้าไปในสำรับ แล้วผู้แสดงสามารถหาไพ่ใบนั้นออกมาได้


นักมายากลที่นำไพ่มาประกอบการแสดงบนเวที ในช่วง ศตวรรษที่ 20 มีหลายคน เช่น


Pinetti ชาวอิตาลี

 


Robert-Houdin ชาวฝรั่งเศส



Hofzinser ชาวออสเตรีย
(เขาผู้นี้ให้คำนิยามว่า มายากลไพ่ คือบทกวีแห่งมายากล)



Charles Bertram ชาวอังกฤษ

 


รวมถึง Harry Houdini ชาวฮังกาเรียน
ซึ่งขนานนามของเขาเองว่า King of Cards


ตำราที่ยอมรับกันว่าเป็นปฐมบทของมายากลไพ่ คือ The Expert at the Card Table



เขียนโดย S.W.Erdnase นักมายากลชาวอเมริกันเมื่อ ค.ศ. 1902 เป็นหนังสือที่สอนทั้งเคล็ดลับมายากลไพ่ และเทคนิควิธีการโกงของนักพนันในสมัยนั้น ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นที่นิยมและใช้เป็นตำราอ้างอิงอยู่ตลอดเวลา


ในยุคต่อมานักมายากลที่มีชื่อเสียงในเรื่องมายากลไพ่ มีมากมายหลายท่าน เช่น Dai Vernon ชาวแคนาดา (ท่านนี้ได้รับการขนานนามว่า The Professor - ปรมาจารย์ของวงการมายากล)



Ed Marlo ชาวอเมริกัน


Ascanio ชาวสเปน


Alex Elmsley ชาวสก๊อต
(ผู้คิดค้นการนับไพ่ Elmsley Count)


นักมายากลเหล่านี้ ได้เขียนตำราหลายเล่ม และต่างมีลูกศิษย์ลูกหาที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันมากมายหลายท่าน


หนังสือตำรามายากลไพ่ ที่นักมายากลทั่วโลกต่างแนะนำ ก็มีมากมายหลายเล่ม เช่น The Royal Road to Card Magic


 


ร่วมกันเขียนโดยนักเขียนสองท่าน คือ Jean Hugard และ Frederick Braue ที่มีชื่อเสียงและถูกยกย่องว่าเป็นสารานุกรมของ มายากลไพ่ คือ Card College เขียนโดย Roberto Giobbi ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันพิมพ์ออกมาแล้ว 8 เล่ม


 

ไพ่กล (ไม่ใช่ กลไพ่) ที่ขายดีที่สุดในโลก คือ ไพ่ Svengali (คำนี้ หมายถึง ผู้ที่สามารถสะกด ควบคุมความคิดผู้อื่นได้ มักมีความหมายไปในทางร้าย) Burling Hull ชาวอเมริกัน แคลิฟอร์เนีย เป็นผู้คิดค้นกลไพ่ชุดนี้เมื่อ ค.ศ. 1909 โดยใช้ชื่อว่า Card Mystery ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Svengali

 



ในเมืองไทย เราคุ้ยเคยกับชื่อ ไพ่จิ๊กจั๊ก ชื่อนี้มาจากการตั้งชื่อ โดย คุณชูศักดิ์ วิจักขณา นักกฏหมายและนักแปล ที่มีผลงานแปลใน นิตยสารมายากล เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อของลูกฝาแฝด จิ๊ก กับ จั๊ก มาเป็นชื่อไพ่ชุดนี้

ปัจจุบันยังคงเป็นไพ่ที่ขายดีตลอดกาล ว่ากันว่ามีการจำหน่ายไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 14 ล้านชุด

ไพ่ กับ ความอัศจรรย์

เมื่อครั้งยังอยู่ที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์มายากล "คนชอบกล" วันหนึ่งผู้เขียนได้ลองหยิบสำรับไพ่มาทดลอง เรื่องการนับคำ กับ จำนวนไพ่ มีสิ่งที่ทำเอาผู้เขียนต้องตะลึงและนิ่งไปหลายนาที กับความอัศจรรย์ที่ค้นพบโดยบังเอิญ ซึ่งเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ในช่วงท้ายจะนำมาบอกเล่ากัน

ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไพ่ 1 สำรับ จำนวน 52 ใบ และ โจ๊กเกอร์ อีก 2 ใบ สามารถนำมาแยกย่อยเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ตามตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมา ดังนี้




  • สีแดง หมายถึง กลางวัน
  • สีดำ หมายถึง กลางคืน
  • ไพ่มี 4 ดอก หมายถึง 4 ฤดู
  • ไพ่มี 4 ดอก แต่ละดอก มี 13 ใบ หมายถึง 1 ฤดู มี 13 สัปดาห์
  • ไพ่หนึ่งสำรับมี 52 ใบ หมายถึง 1 ปีมี 52 สัปดาห์ (ในที่นี้ จะไม่พูดถึงความหมายของหน้าไพ่และดอกไพ่แต่ละใบ เพราะผู้อ่านสามารถหาดูเพิ่มเติมได้โดยทั่วไป)
  • หากเอาไพ่ทั้ง 52 ใบมาบวกรวมกัน A (1) + 2 + 3 + 4 + 5 + 6 ... Jack (11) + Queen (12) + King (13) จนครบทั้ง 52 ใบ จะได้ผลรวม 364 เอา โจ๊กเกอร์ มารวมอีก 1 ใบ จะได้ 365 หมายถึง 1 ปี มี 365 วัน หากเอาโจ๊กเกอร์ ที่เหลืออีก 1 ใบมาบวก จะได้ 366 ตามจำนวนวันของปีอธิกสุรทิน
  • ไพ่ 1 สำรับมี 54 ใบ (รวมโจ๊กเกอร์) ถ้านับ ด้านหน้า + ด้านหลัง (54 + 54) จะเท่ากับ 108 เลข 108 ในทางโหราศาสตร์ ถือว่าเป็นเลขมงคล เช่น สวดมนต์ต้อง 108 จบ ลูกประคำต้องมี 108 เม็ด ฯลฯ เลข 108 นี้ มาจากผลรวมของกำลัง ดาวศุภเคราะห์+ดาวบาปเคราะห์ แต่รายละเอียดจะขอไม่กล่าวในที่นี้ เดี๋ยวเรื่องมายากลจะกลายเป็นโหราศาสตร์ไป

 

อัศจรรย์กับจำนวนไพ่ กับการสะกดคำ

เรื่องนี้จะสนุกมากขึ้น ถ้าท่านเอาสำรับไพ่ 52 ใบ มาถือไว้ในมือ แล้วลองนับตามไปด้วย ถ้าเราสะกดคำ ของเลข 1 (A) ถึง King เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกับนับไพ่ไปด้วย เราจะพบกับความอัศจรรย์ ดังนี้ 

  • ไพ่ A ให้สะกดคำว่า One โอ O ก็ให้แจกไพ่ในมือเราลงบนโต๊ะ 1 ใบ N แจกลงบนโต๊ะอีก 1 ใบ ตามด้วย E อีก 1 ใบ
  • เลข 2 Two ... T แจก 1 ใบ W แจก 1 ใบ O แจก 1 ใบ
  • ทำเช่นนี้กับเลข 3 - 10 Three-Four-Five-Six-Seven-Eight-Nine-Ten
  • เมื่อถึง Jack ให้แจกเป็น J-A-C-K
  • Queen แจกเป็น Q-U-E-E-N  
  • เมื่อถึง King ... K-I-N-G เมื่อถึงตัว G ตัวสุดท้าย ไพ่ในมือของเราทั้ง 52 ใบ จะหมดพอดี นับว่าเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่ง แต่ความอัศจรรย์ยังไม่จบเพียงเท่านี้


วันนั้น ที่ร้าน "คนชอบกล" ผู้เขียนนึกสนุก หลังจากนับไพ่เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ได้ลองนับเป็นภาษาไทยบ้าง หลังจากนับจบ ปรากฏว่า ผู้เขียนเกิดอาการตะลึงนิ่งไปหลายนาที แล้วถามตัวเองว่า "เฮ้ย  นี่มันเรื่องมหัศจรรย์หรือเรื่องบังเอิญ ถ้าเป็นเรื่องบังเอิญ อะไรมันจะขนาดนั้น"


เรามาลองสนุกกันดู หยิบไพ่ 52 ใบมาถือไว้ในมือ แล้วนับแต่ละใบเป็นภาษาไทย ดังนี้ 

  • หนึ่ง แยกเป็น ห.หีบ แจก 1 ใบ น.หนู แจก 1 ใบ สระอึ แจก 1 ใบ ไม้เอก แจก 1 ใบ ง.งู แจก 1 ใบ
  • สอง แยกเป็น ส-อ-ง ... นับแบบนี้เรียงไปเรื่อย ๆ สาม สี่ ห้า ...
  • แปด แยกเป็น แ-ป-ด ... เก้า ... สิบ
  • เมื่อถึง Jack ให้นับเป็น สิบเอ็ด แยกเป็น ส.เสือ-สระอิ-บ.ใบไม้-สระเอ-อ.อ่าง-ไม้ไต่คู้-ด.เด็ก
  • Queen ให้นับเป็น สิบสอง
  • King ให้นับเป็น สิบสาม

ถึงตรงนี้แล้ว ไพ่ในมือจะหมดพอดี ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกอัศจรรย์เหมือนกับผู้เขียนในวันนั้นหรือไม่ หากท่านใดลองไปทดลองการนับไพ่นี้กับภาษาอื่น ๆ ได้ผลอย่างไร นำมาบอกกล่าวกันด้วย จะได้เป็นความรู้ให้กับท่านอื่น ๆ ต่อไป


เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ที่เกี่ยวกับไพ่ก็มีอีกมากมาย เช่น

  • ถ้าแบ่งไพ่หนึ่งสำรับเป็นสองกอง ๆ ละ 26 ใบเท่า ๆ กัน แล้วกรีดเข้าหากัน ให้ละเอียดแบบใบขั้นใบ หรือที่เราเรียกวิธีการกรีดไพ่นี้ว่า Faro Shuffle หากทำแบบนี้ซ้ำกัน 8 ครั้ง ไพ่ที้งหมดกลับมาจะเรียงลำดับเหมือนเดิม ก่อนทำการกรีดไพ่

    Faro Shuffle

  • ไพ่ทั้ง 52 ใบ เมื่อนำมาสับคละกัน โอกาสที่ไพ่จะเรียงตัวไม่ซ้ำกันนั้น มีมากถึงเลข 8 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 67 ตัว (มากจนไม่สามารถพิมพ์ในที่นี้ได้)

ไพ่ กับ การติดคุก

เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจจะนำมาบอกกล่าวเพื่อให้เกิดความตระหนกตกใจ แต่นำมาเพื่อเตือนให้ ทั้งนักมายากลและนักสะสมไพ่ ได้รู้ถึงข้อบังคับทางกฏหมายและสิ่งควรระมัดระวัง เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดจนเป็นเรื่องเป็นคดีความ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

พระราชบัญญัติไพ่ (พรบ.ไพ่) ฉบับพุทธศักราช 2486 ระบุไว้ว่า

มาตรา 5 ห้ามมิให้ผู้ใดทำไพ่หรือนำไพ่เข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่าของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขายในประเภทเดียวกัน แต่ในกรณีทำไพ่ต้องไม่ต่ำกว่าสองพันบาท


เคยมีคนไทยหลายคน สั่งไพ่จากต่างประเทศเข้ามา แต่ถูกกรมศุลกากร กักไว้ หากต้องการนำไพ่ออกไปต้องเสียค่าปรับและเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมาก จนบางคนยอมที่จะทิ้งไพ่นั้นทั้งหมด และไม่(กล้า)แสดงความเป็นเจ้าของ และเคยมีคนสั่งพิมพ์ไพ่เอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการแสดงมายากล ออกแบบลวดลายหลังไพ่ เพื่อใช้เป็นไพ่กรีด หรือ เป็นไพ่พิเศษ มีสองหน้าบ้าง เลขไพ่ซ้ำกันบ้าง หรือ หนึ่งใบมีสองเลข ทั้งหมดนี้ ล้วนเข้าข่ายนิยามของคำว่า "ทำไพ่" ตามมาตรา 5 ได้ข่าวว่าต้องเสียค่าปรับไปอย่างมโหฬาร


มาตรา 7 วงเล็บ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดขายไพ่เป็นการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรานี้ ไม่ยกเว้น ไม่ว่าจะจำหน่ายไพ่กลหรือไพ่เพื่อการสะสม แต่มาตรที่น่ากลัวและไม่ค่อยมีผู้ใดรู้ คือ

มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไพ่ไว้ในครอบครองเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบใบ หรือขายไพ่ไม่ว่าจำนวนใด ๆ เว้นแต่ไพ่นั้นเป็นไพ่ซึ่งกรมสรรพสามิตทำขึ้น หรือเป็นไพ่ที่มีตราซึ่งกรมสรรพสามิตได้กำหนดขึ้นประทับอยู่

ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่าของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขายในประเภทเดียวกันแต่ต้องไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


บางคนอาจจะดีใจว่า ไพ่ที่มีอยู่นั้นไม่เกิน 120 ใบไม่ต้องรับโทษ ที่ถูกต้องคือ ต้องรับโทษเช่นกัน เว้นแต่ไพ่นั้นเป็นไพ่ที่กรมสรรพสามิตทำขึ้นและมีตราประทับอยู่

หากจะว่ากันอย่างเคร่งครัดแล้ว นักมายากล หรือ นักสะสมไพ่ ทุกคนในเมืองไทยต่างได้รับอานิสงค์ ตามมาตรานี้อย่างถ้วนหน้ากัน


และหากใครพิมพ์ไพ่ขึ้นมาเอง และมีจำนวนมากกว่า 120 ใบ จะโดนลงโทษสองกรรม คือ ผลิต และ มีไว้ในครอบครองเกินจำนวน ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1422/2526

ความโดยย่อ: ความผิดฐานทำไพ่และมีไพ่ไว้ในครอบครองเกิน 120 ใบนั้นพระราชบัญญัติไพ่ฯ กำหนดองค์ประกอบความผิดและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ต่างหากจากกัน และเป็นความผิดคนละมาตรากัน การทำไพ่แล้วจำหน่ายไปเลยย่อมไม่มีความผิดฐานมีไพ่ไว้ในครอบครองหรือการมีไพ่ไว้ในครอบครองผู้ฝ่าฝืนไม่จำต้องเป็นผู้ทำไพ่เอง ก็เป็นความผิดได้ ดังนั้น การทำไพ่และการมีไพ่ไว้ในครอบครอง เกิน 120 ใบจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน


เมื่อกลาง พ.ศ. 2561 มีคนไทยคนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นถึงบ้าน ยึดไพ่ไปมากมาย ทั้งไพ่ธรรมดาและไพ่กล เสียค่าปรับไปเกือบสองแสนบาท แต่ยังโชคดีที่ไม่ถูกโทษจำคุก

ข้อกฏหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับรู้ไว้ด้วยความระมัดระวัง จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้


เรื่องราวของ ไพ่ ในบริบทต่าง ๆ นี้ แม้จะเป็นข้อมูลเพียงน้อยนิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนก็อยากจะนำข้อมูลที่รวบรวมไว้เหล่านี้ มาแบ่งปันให้อ่าน และให้ท่านช่วยกันค้นคว้ากันต่อไป เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากกว่านี้ หากท่านพบว่าข้อมูลในบทความนี้มีข้อผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนประการใด รบกวนขอคำชี้แนะด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ชาลี ประจงกิจกุล


หนังสืออ้างอิง

- นิราสไพ่ โรงพิมพ์ 1120 ห้างสมุด พ.ศ. 2468
- สำนวนไทยกับไพ่ตอง โดย เรไร ไพรวรรณ์
- Collectible Playing Cards โดย Frederique Crestin-Billet
- The Genius of China โดย Robert Temple
- The Complete Illustrated Book of Card Magic โดย Walter B.Gibgson
- Card College Vol.1 โดย Roberto Giobbi’s
- Magic with Cards โดย Garcia & Schindler



 

ภาพประกอบบทความ
https://www.artofplay.com/products/aladdin-playing-cards
https://www.excise.go.th/ABOUT_US/HISTORY/EXCISELOGO/index.htm
http://www.cypressfilms.com/bicycle/uspc_dates/uspc_dating_codes.html
http://www.gclubmarket.com/wp-content/uploads/2015/11/75.jpg
http://www.strangehistory.net/2012/06/23/the-eastern-origins-of-playing-cards/
https://www.rubylane.com/item/404269-T00001814/French-Piquet-Playing-Cards-Hand-Colored
https://www.playingcard.or.th
https://en.wikipedia.org/wiki/Playing_card
https://www.quora.com/How-do-you-do-the-Perfect-shuffle-or-the-Faro-Shuffle

Share